24 มีนาคม 2568 ที่รัฐสภา นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยกล่าวหาว่า โกงค่าไฟประชาชน ทุจริตเชิงนโยบาย สานต่อขบวนการค่าไฟแพง ปล้นเงินประชาชนทั้งประเทศ ไปแลกดีลจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน ที่สนิทสนมกับอดีตนายกรัฐมนตรี
นายวรภพ ไล่เรียงความผิดของขบวนการทุจริตเชิงนโยบายว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินหน้าสานต่อการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนระยะ 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ แม้โครงการจะชะลอมา 3 เดือนแล้ว แต่รัฐบาลตั้งใจโกงค่าไฟประชาชน 1 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย โครงการดังกล่าวริเริ่มโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อมีนาคม 2566 เป็นมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นเวลา 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง และรัฐบาลใหม่เองก็มาสานต่อและเดินหน้าโครงการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 โดยมติของ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาสู่รัฐบาลปัจจุบัน แม้จะมีมติให้ชะลอโครงการออกไปก่อน ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีคำชี้แจงจากนายกรัฐมนตรีว่า จะตัดสินใจอย่างไร หรือเป็นเทคนิครอให้ข่าวเงียบ เพื่อให้ไปลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนต่อได้
นายวรภพ ชี้ว่า การรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ไม่มีการประมูลแข่งขันราคาแต่อย่างใด เพราะมีการกำหนดราคารับซื้อไว้แล้ว ราคาที่รัฐจะรับซื้อเป็นเส้นตรงคงที่ตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี คำนวณแล้วจะทำให้ค่าไฟของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท
โดยมีการยกตัวอย่างราคาไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่บิดาของนายกรัฐมนตรีเคยยืนยันเมื่อ 2 เดือนที่แล้วว่า ต้นทุนไฟฟ้าแสงอาทิตย์อยู่ที่ 1.8 บาทต่อหน่วย แต่นายกรัฐมนตรีคนลูกยินดีจะซื้อถึง 2.2 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟของประชาชนจะแพงขึ้นกว่าที่เกินจะเป็น หากรัฐบาลเดินหน้ารับซื้อโดยไม่เปิดประมูล ให้กลุ่มทุนได้รับกำไร
นอกจากนี้ การรับซื้อไฟฟ้า 3,600 เมกะวัตต์ ยังซ้ำซ้อนกับการเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด 2,000 เมกะวัตต์ของรัฐบาลเอง ที่อนุมติก่อนหน้าไปแล้วในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ช่วงเดือนมิถุนายน 2567 แต่ในเดือนกรกฎาคม 2567 รัฐบาลแพทองธาร กลับเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนล้นเกินอยู่แล้ว หากรัฐรับซื้อไฟฟ้าโดยเกินความต้องการ ราคาก็จะมาหารในบิลค่าไฟของประชาชนทุกคน
นายวรภพ ระบุว่า โครงการดังกล่าวมีการล็อกโควตาเฉพาะเอกชนที่ยื่นโครงการในระยะแรก 2,100 เมกะวัตต์ จะได้รับสิทธิพิจารณาก่อนเพื่อน เอกชนส่วนหลังจะมีสิทธิเฉพาะ 5,200 เมกะวัตต์ที่เหลือในส่วนหลัง เหมือนกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ และปลอบใจรายเก่า
“กกพ. ก็กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีเอกชนที่ผ่านคุณสมบัติ มีจำนวนมาก เอกชนที่ได้รับคะแนนเทคนิคสูงที่สุด จะได้รับคัดเลือกก่อน แต่ประเด็นที่เป็นข้อพิรุธทุจริตนโยบาย คือการรับซื้อไฟฟ้านี้ นอกจากจะไม่เปิดประมูลแล้ว ก็ไม่มีการประกาศว่า หลักเกณฑ์ในการให้คะแนนเทคนิค คืออะไร พูดง่ายๆ คือ เป็นการเปิดช่อง ให้มีการใช้ดุลพินิจได้มหาศาล จิ้มเลือกได้เลยว่าต้องการให้เอกชนรายใด ได้รับคัดเลือกในการที่จะได้กำไรดีๆ จากการขายไฟฟ้าให้รัฐ ที่ไม่ต้องประมูลแข่งขันอะไรเลย” นายวรภพกล่าว
นายวรภพ ระบุว่า รัฐบาลเร่งรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มทุนพลังงาน ที่ใกล้ชิดกับครอบครัวนายกรัฐมนตรี ออกงานกันสนิทสนม ร่วมโต๊ะโซน VIP กันหลายงาน และกลุ่มทุนพลังงานนี้ ก็เป็นก๊วนกอล์ฟกับ คุณพ่อของนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยออกรอบกันหลายครั้งด้วย
“แต่การมีเพื่อนเป็นเจ้าสัว เป็นก๊วนกอล์ฟ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนะครับ และรัฐบาลก็คงไม่ผิดอะไร ถ้า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ไม่ได้สานต่อ หรือเอื้อประโยชน์อะไร มันก็คงเป็นเรื่องบังเอิญเท่านั้น” นายวรภพกล่าว
ขณะเดียวกัน ยังมองว่า ทั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยคัดค้านโครงการนี้มาก่อน และศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ แต่กลับไม่มีการชะลอโครงการ แม้จะมีคำสั่งศาลปกครองที่ชี้ว่า กระบวนการคัดเลือกนั้นไม่โปร่งใส เนื่องจากรัฐบาลเอื้อผลประโยชน์นายทุนพลังงาน จนทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มทุนผูกขาด และเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟส 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ และเร่งรัดการเปิดเสรีพลังงานสะอาด (Direct PPA) พร้อมขอให้ยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสแรก รอบ 5,200 เมกะวัตต์ ในส่วนที่ยังไม่ได้ลงนาม