7 มีนาคม 2568 มีรายงานจากบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ถึงความคืบหน้ากรณี คดีการฮั้ว สว. ที่ กคพ.มีมติชี้ขาดให้รับ “คดีฟอกเงิน” เป็น “คดีพิเศษ” ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ว่า สืบเนื่องจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ได้เสนอในที่ประชุมบอร์ด กคพ. ให้มีการชี้ขาดคดีฟอกเงิน มูลค่าเกิน 300 ล้านบาทหรือไม่ เพราะมี อนุกรรมการฯ บางท่านสงสัย ที่มีพยานเคยให้การไว้หลายปากว่า มีเงินเกี่ยวข้องกว่า 400 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือก สว. ระดับอำเภอ และจนถึงหลังจบการเลือก สว.ระดับประเทศ
ทั้งนี้ บอร์ด กคพ. ได้มีการเสนอความคิดเห็นหลากหลายแตกต่างกัน บางท่านว่ามูลค่าเกิน 300 ล้านบาท แต่บางท่านว่าไม่ถึง 300 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในที่ประชุมบอร์ด กคพ. มีการพิจารณารายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิด ที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ตามลำดับ ก่อนจะไปพิจารณาตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) โดยคดีฟอกเงิน เข้าความผิดในบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มีการวินิจฉัยให้รับคดีฟอกเงิน ไว้เป็นคดีพิเศษไว้สืบสวนสอบสวนก่อน ต้องมีการขยายผลเส้นทางการเงินทั้งหมด แต่ยังไม่ดำเนินคดีเอาผิดกับบุคคลใด
ส่วนเหตุ คดีฟอกเงิน มีการโหวตในบอร์ด กคพ. เพื่อชี้ขาดว่า ถึงหรือไม่ถึง 300 ล้านบาท ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยใช้มติเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม ซึ่งผ่านมติด้วยเสียง 11 ต่อ 4 ว่ามีมูลค่าเกิน 300 ล้านบาท และเสนอให้ อธิบดีดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษตามอำนาจหน้าที่ แต่ถ้าไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ต้องโหวตตามมติ 2 ใน 3 คือ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2)
ในที่ประชุมบอร์ด กคพ. มีการเสนอความผิดอาญาอื่น อาทิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (ฐานอั้งยี่) และ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งไม่เข้าความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 2547 แต่พนักงานสอบสวนสามารถแจ้งข้อหาเพิ่มเติมได้ภายหลัง หากมีหลักฐานเพียงพอ และไม่ต้องเสนอเข้าบอร์ดแล้ว เพราะรับเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว