พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ย้ำถึงกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ หรือ คณะกรรมการ คกพ.รับคดีฮั้ว สว.เฉพาะส่วนของการฟอกเงิน เป็นคดีพิเศษว่า การจะเป็นคดีพิเศษได้จะต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 21 บัญญัติ แต่หากเป็นคดีอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข จะต้องใช้มติของคณะกรรมการ กคพ.จำนวน 2 ใน 3 ของคณะกรรมการที่มีอยู่ แต่ในคดีฮั้ว สว.นั้น เนื่องจาก เมื่ออนุกรรมการพิจารณาแล้ว ได้เสนอเรื่องขึ้นมาว่า ให้ฐานความผิดการฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ แต่ความผิดฐานฟอกเงิน ที่มีมูลมาจากความผิดฐานอั้งยี่ และฐานการได้มาซึ่ง สว.โดยมิชอบ ปรากฏว่า มีมูลน่าเชื่อว่า มีมูลค่าการฟอกเงินความผิดเกิน 300 ล้าน อนุกรรมการฯ จึงขอให้คณะกรรมการ กคพ.เป็นผู้ชี้ขาด คณะกรรมการ คกพ.จึงชี้ขาดให้เป็นคดีพิเศษ และถือเป็นที่ยุติ
อย่างไรก็ตาม พันตำรวจเอกทวี ยืนยันว่า แม้คณะกรรมการ คกพ.จะรับคดีฮั้ว สว.เฉพาะส่วนการฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ แต่หากพบมูลฐานอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการฟอกเงิน ทั้ง การได้มาซึ่ง สว.โดยมิชอบ, อั้งยี่, ยุยงส่งเสริมให้ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ครอบงำนิติบัญญัติ, การปลอมแปลงเอกสาร ขู่บังคับ ทำร้าย หรือความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ก็รวมเป็นคดีพิเศษด้วย โดยที่คณะกรรมการ กคพ.ไม่ต้องพิจารณาแล้ว และให้ถือเป็นคดีพิเศษทั้งหมด
ส่วนใช้พยานหลักฐานใดตีความเข้าข่ายความผิดเกินมูลค่า 300 ล้านนั้น พันตำรวจเอกทวี ชี้แจงว่า มีพยานยืนยันว่า ต้องใช้เงิน หรือมีการใช้เงิน 400 – 500 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินเป็นช่วง ๆ สามารถคิดทางคณิตศาสตร์ได้ และพยานยืนยันว่า มีการใช้เงินก็ถือว่า มีมูลน่าเชื่อได้ ที่ประชุมจึงมีมติให้เป็นคดีพิเศษ
ส่วนที่มีข้อโต้แย้งการใช้เงินจูงใจให้เลือกอาจเข้าข่ายการซื้อเสียงซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ในการสอบสวน แต่ DSI พยายามจะล้วงลูกด้วยการใช้หลักเกณฑ์นี้นั้น พันตำรวจเอกทวี ยืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งได้มีการพิจารณาแล้ว และมีการยกตัวอย่างความผิด เช่น บริษัทหนึ่งหลบเลี่ยงภาษี ก็มีการแบ่งเป็นกรรม แต่คดีนี้ เป็นการอั้งยี่ เมื่อมีการสมคบมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิด แต่การใช้ทรัพย์สิน หรือได้มาซึ่งทรัพย์สิน และคดียังเชื่อมโยงมาปัจจุบัน ขบวนการที่เป็นอั้งยี่ยังอยู่ จึงเลยขั้นตอนไปแล้ว
ส่วน DSI เข้าไปในความเสี่ยงในการนำคดีนี้มาพิจารณาหรือไม่นั้น พันตำรวจเอกทวี ยืนยันว่า ไม่ใช่ แต่เพราะมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และมีการสืบสวนสอบสวน รวมถึง กกต.เองยังขอให้ DSI มาช่วยดำเนินการด้วยซ้ำ โดย DSI ก็จะต้องร่วมมือกับ กกต.หาก DSI ขอพยานหลักฐานไป กกต.ก็สามารถนำไปไต่สวนเพิ่มเติมได้ และยื่นเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อถอดถอนได้ พร้อมมั่นใจว่า จะได้รับความร่วมมือจาก กกต.เนื่องจาก กกต.มีหนังสือมายัง DSI แต่ยืนยันว่า DSI ไม่ได้ไปก้าวล่วงอำนาจ กกต.และจะพยายามรวบรวมเรื่องให้ เพราะอำนาจ กกต.หลักการคือ มีอำนาจในการถอดถอนการได้มาซึ่ง สว.โดยมิชอบ และคิดว่าหลักฐานที่มีการจ่ายเงินน่าจะถึง 20 คน
ส่วนใช้เวลานานหรือไม่นั้น พันตำรวจเอกทวี เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายไม่ควรเกิน 3 เดือนในการสอบสวน แต่ก็จะต้องขึ้นอยู่กับพยานและหลักฐาน แต่เบื้องต้น ควรใช้เวลา 3 เดือนในการรวบรวมหลักฐาน เพราะได้มีการสอบสวนมาล่วงหน้า 7 เดือนแล้ว
ส่วนกระบวนการ DSI จะกระทบต่อกระบวนการของ กกต.หรือไม่นั้น พันตำรวจเอกทวี ปฏิเสธที่จะยืนยัน เพียงแต่ชี้แจงย้ำว่า DSI จะสอบสวนเรื่องการฟอกเงิน ที่มีมูลฐานอั้งยี่ และความผิดการได้มาซึ่ง สว. หรือหากไปกระทบความผิดอาญาอื่นมิชอบ ก็ดำเนินการด้วย
พันตำรวจเอกทวี ยังยืนยันว่า ไม่กังวลต่อกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา เคลื่อนไหวยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ และละเมิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงของตนเอง โดยระบุว่า ความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่มีความสำคัญเท่ากัน และหากพิจารณาให้ดี เรื่องดังกล่าวกระทบความมั่นคงอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจหนึ่งในการออกกฎหมาย จึงขอให้ สว.เข้าใจ และหากไม่ผิดก็จะมีความสง่างาม และยืนยันว่า การสอบสวนจะเป็นไปตามพยานหลักฐาน ไม่มีการใช้ความรู้สึก
ส่วนการสอบสวนนี้จะทำให้รัฐบาล และ สว.มีความขัดแย้งในการทำหน้าที่ร่วมกันหรือไม่นั้น พันตำรวจเอกทวี ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่เมื่อเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนแล้ว ก็ไม่เกี่ยวกับรัฐมนตรีด้วย ต่อจากนี้เป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน มีอัยการ ตำรวจ และผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมสอบสวนเพื่อพิสูจน์ขอเท็จจริง โดยหลักการสอบสวนนั้น จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว