3 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา" ( สคก.) ได้มีการปรับปรุง"ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร" หรือ"ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 13 มกราคม เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ร่างที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วเรื่องเสร็จที่ 261/2568 และส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เพื่อรอบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมครม. เร็วๆนี้
แก้หลักการและเหตุผล ระบุเจตนารมย์ตั้ง “กาสิโน”
อย่างไรก็ดี "ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ฉบับล่าสุด ( 3 มี.ค. 68 ) มีความแตกต่างจากร่างเดิม ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงและรับฟังความเห็นในวาระแรก ตามปรากฎเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้พอสมควร ซึ่งร่างเดิม มีจำนวน "79 มาตรา" ขณะที่ร่างกม.ฉบับใหม่มีทั้งสิ้น "104 มาตรา"
เมื่อเปรียบเทียบ ร่างกม.เดิม กับ ร่างฉบับใหม่ พบการแก้ไข (เบื้องต้น ) ตั้งแต่ หลักการและเหตุผลให้ชัดเจนขึ้น โดยร่างเดิม เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า "....ต้องการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ( Man-made Destination ) รวมทั้งให้มีธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ ฯ" ขณะที่ร่างกม.ฉบับใหม่ เขียนไว้ว่า " ....เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยประกอบด้วยสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนฯ" นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่จะทำธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร จะต้องมี "กาสิโน" อยู่ด้วย
ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ฉบับที่กฤษฏีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว
ร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ฉบับที่ผ่านกฤษฏีกาวาระแรก
กำหนดอำนาจ มท.1 รักษาการร่วมกม.ชัดเจนขึ้น
ประเด็นต่อมา เกี่ยวการรักษาการร่วมตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ หากย้อนดูร่างเดิม เป็นที่ทราบแล้วว่า ได้มีการกำหนดให้ นายกฯและ รมว.มหาดไทย รักษาการร่วมตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ร่างใหม่ มีการกำหนด ให้อำนาจ "รมว.มหาดไทย" ชัดเจนขึ้น ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และออกประกาศกำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวง แตกต่างจากร่างเดิมที่เขียนไว้กว้างๆ
แก้เงื่อนไขบุคคลสัญชาติไทยเข้ากาสิโน
กรณีสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการเผยแพร่ร่างแรกของกฤษฏีกา กรณีบุคคลสัญชาติไทยเข้าเล่นกาสิโน โดยร่างเดิม "ต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านบาทต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่าหกเดือน" ถึงเข้าเล่นได้
แต่ ร่างกม.ใหม่ ขยายความเพิ่มเติม แยกมาเป็นมาตราเดียวเลย ปรากฎในมาตรา 81 ระบุว่า บุคคลสัญชาติไทย จะเล่นพนันในกาสิโน ต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่าห้าสิบล้านต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่าหกเดือน และผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกำหนด ถือเป็นการขยายความให้เข้าใจเพิ่มเติม ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการบริหาร ขณะที่ร่างเดิม ต้องผ่านการตรวจสอบตามที่กรรมการนโยบายกำหนด
ภาพประกอบเรื่อง ร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
กก.นโยบาย ชงครม. กำหนดจำนวนใบอนุญาติ หมื่นล้าน
หัวใจสำคัญของร่างกม.ฉบับนี้ ซึ่งเปรียบเหมือนแหล่งขุมทรัพย์หวังสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล นั่นคือ กรณี ผู้ประกอบธุรกิจที่จะมาตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ต้องขอใบอนุญาติ นั้น โดยร่างกม.ใหม่ไม่ต่างจากร่างเดิมเท่าไหร่นัก
ระบุไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งการอนุมัติใบอนุญาต การกำหนดจำนวนใบอนุญาติ ยังเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย เสนอ ครม.พิจารณา เนื้อหานี้ ปรากฎอยู่ในมาตรา 44 ขณะที่ร่างกม.เดิม ระบุไว้ในมาตรา 18 แตกต่างกันที่ตัวเลขมาตราเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ตามร่างกม.ฯฉบับแก้ไขใหม่ ยังคงกำหนดเงินลงทุนให้กับผู้ขอรับใบอนุญาต ไว้ในมาตรา 47 ระบุว่า "ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท" ใบอนุญาติจะมีอายุ 30 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาติ เมื่อใบอนุญาตครบอายุ ให้กก.นโยบายมีอำนาจในการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตได้คราวละไม่เกินสิบปี (ม.53 ) ขณะที่สัญญาเช่าช่วง ร่างกม.เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ปี ขณะที่ร่างกม.ใหม่ กำหนดไว้ไม่เกิน 30 ปี (ม .63 )
ที่น่าสนใจในร่างกม.ฉบับใหม่ มาตรา 49 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายออกประกาศเพื่อกำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโน ซึ่งจะต้องไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร แล้วแต่กรณีใดจะน้อยกว่ากัน
เมื่อเทียบกับร่างเดิม เกี่ยวกับสัดส่วนพื้นที่ กำหนดไว้ในมาตรา 18 ( 6 ) ว่า กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจร ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร ในกรณีที่กาสิโนตั้งอยู่ในอาคารใดให้นับจากพื้นที่อาคารนั้นทั้งหมด
คงประเด็นรับฟังความเห็น แต่เปลี่ยนผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ประเด็นของการจัดตั้ง"สถานบันเทิงครบวงจร" ยังคงกำหนดเรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นประชาชน" ไว้เช่นเดิม โดยร่างกม.ฉบับใหม่ปรากฎอยู่ในมาตรา 45 วรรคแรก ระบุว่า การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วย ส่วนร่างเดิม เขียนไว้ในมาตรา 9 การรับฟังความคิดเห็น คณะกรรมการนโยบาย ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้
สรุปว่า ร่างกม.ใหม่ ให้สำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นตามกฎหมายมีหน้าที่รับผิดชอบในการรับฟังความคิดเห็น แตกต่างจากร่างเดิมที่เคยกำหนดให้ กรรมการนโยบาย แต่งตั้ง กรรมการเฉพาะกิจ มารับฟังความคิดเห็นในทุกมิติ
ปรับบัญชีแนบท้าย ธุรกิจในสถานบันเทิงจาก 10 ประเภทเหลือ 9 ประเภท
นอกจากนี้ บัญชีแนบท้าย ร่างกม.ฉบับใหม่ กำหนดประเภทธุรกิจสถานบันเทิง 9 ประเภท ได้แก่ 1. ห้างสรรพสินค้า 2. โรงแรม 3. สถานบริการ 4. สนามกีฬา 5. ยอร์ชและครูชชิ่งคลับ 6. สถานที่เล่นเกม 7. สระว่างน้ำและสวนน้ำ 8. สวนสนุก 9. กิจการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด ขณะที่ร่างกม.เดิม มี 10 ประเภท ประเภทธุรกิจที่หายไปคือ พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้าโอท็อป
นี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบคร่าวๆ ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฉบับกฤษฎีกา ที่ปรากฎเป็นข่าวก่อนหน้านี้ กับ ร่างที่กฤษฏีกานำไปแก้ไข ตามนโยบายรัฐบาล ล่าสุด คาดว่า สำนักเลขาธิการครม.จะนำร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ฉบับที่กฤษฏีกาตรวจพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมกับบันทึกความเห็นหน่วยงานกระทรวงที่เกี่ยวข้อง บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมครม.ได้ราววันที่ 11 มีนาคมนี้
กฤษฏีกา ปรับปรุง ร่างกม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ในส่วนของบัญชีท้าย ประเภทธุรกิจสถานบันเทิง
คลิกอ่าน >>> ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ฉบับกฤษฏีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว