การแพร่ระบาดของ "ปลาหมอคางดำ" ในพื้นที่สมุทรสงคราม ตอนนี้กำลังสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเกษตรกร เพราะทำให้คนเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาขาดทุนต่อเนื่องทุกปี งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าความเสียหายที่เกิดจากปลาหมอคางดำ อยู่ที่ประมาณตำบลละ 100 ล้านบาท ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์บ่อปลาของเกษตรกรบ่อกุ้ง แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่ขาดทุนต่อเนื่อง นับตั้งแต่พบปลาหมอคางดำ ตั้งแต่ปี 2554 จนปี 2567 เริ่มกลับมามีกระแสการระบาดของ "ปลาหมอคางดำ" อีกรอบ
13 มกราคม 2568 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการทุ่มเทดำเนินมาตรการควบคุมและจัดการปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดในภาพรวมดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลการสำรวจล่าสุดในเดือน ธ.ค.67 ที่ผ่านมา ในกว่า 190 แม่น้ำและลำคลอง
พบว่าพื้นที่การระบาดลดลงจาก 19 จังหวัด เหลือ 17 จังหวัด โดยจังหวัดปราจีนบุรีและพัทลุงที่พบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำในปริมาณที่น้อยมากหรือแทบไม่พบเลย และขณะที่จังหวัดอื่นพบปลาลดลงอย่างต่อเนื่อง
กรมประมงยังคงเดินหน้าปฏิบัติการควบคุมและจัดการปลาหมอคางดำอย่างเข้มข้นผ่าน 7 มาตรการหลัก พร้อมบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อให้การจัดการปัญหาครอบคลุมทุกมิติ
สนับสนุนให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจของภาคการประมง และความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำธรรมชาติ อธิบดีกรมประมง กล่าว
สำหรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 ซึ่งกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีความคืบหน้าสำคัญในหลายด้าน อาทิ การวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ การขยายผลโครงการ "สิบหยิบหนึ่ง" ที่ประสบความสำเร็จจากจังหวัดสมุทรสงคราม การผลิตน้ำปลาจากปลาหมอคางดำ และการลงนาม MOU กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำในรูปแบบต่างๆ เช่น การผลิตน้ำหมักชีวภาพ และการทำน้ำปลา เป็นต้น
มาตรการที่ 1 การเร่งกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการจัดการปลาหมอคางดำในบ่อเกษตรกรและบ่อร้าง พร้อมนำโครงการ "สิบหยิบหนึ่ง" จากจังหวัดสมุทรสงครามเป็นโมเดลขยายผลไปจังหวัดอื่นๆ รวมถึงการต่อยอดกองทุนกากชา เพื่อช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรในการลดประชากรปลาในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของตนเอง เป็นต้น
มาตรการที่ 2 การปล่อยพันธุ์ปลานักล่าอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อควบคุมและตัดวงจรปลาหมอคางดำ
มาตรการที่ 3 การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติม ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อขยายการนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เช่น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำหมักชีวภาพ น้ำปลา และการหมักจุลินทรีย์สำหรับใช้ในบ่อเลี้ยงกุ้ง
มาตรการที่ 4 การปรับปรุงกฎระเบียบและข้อบังคับให้เข้มงวดโดยมีมาตรการ “เจอ แจ้ง จับ จบ” เมื่อพบปลาหมอคางดำให้แจ้งกรมประมงทันที เพื่อเอื้ออำนวยให้มีการจัดการปัญหาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ระเบียบการขนย้ายปลาหมอคางดำข้ามพื้นที่ระบาดตามประกาศ
มาตรการที่ 5 การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนถึงผลกระทบและการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกประมงจังหวัดทุกพื้นที่ทั้งพื้นที่ที่มีการระบาด และพื้นที่กันชนหรือใกล้เคียงยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
มาตรการที่ 6 การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยล่าสุดมีความคืบหน้าในการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ทำให้ปลาเป็นหมัน ซึ่งขณะนี้กรมอกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาผลการทดลองเลี้ยงปลา 4n ในพื้นที่จำลองธรรมชาติ
มาตรการที่ 7 การฟื้นฟูระบบนิเวศ เป็นมาตรการที่กรมประมงให้ความสำคัญมาก โดยพื้นที่ใดที่มีประชากรปลาหมอคางดำลดน้อยลงมากจนเป็นพื้นที่สีเขียว กรมประมงจะดำเนินการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศโดยอาศัยฐานข้อมูลปลาประจำถิ่นในแต่ละจังหวัดที่กรมมีอยู่แล้ว
"ความทุ่มเทของทุกภาคส่วนในการควบคุมสถานการณ์ปลาหมอคางดำที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมาตรการที่ดำเนินการ และกรมประมงยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการจัดการให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในอนาคต" อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย