13 มกราคม 2568 นายปกรณ์ นิลประพันธ์" เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าวถึง กระแสข่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาทักท้วง"ร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาวันนี้ ว่า ไม่ได้ ไม่เห็นด้วย แต่หลักในการทำกฎหมายของรัฐบาล จะต้องยึดนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งจะต้องไปดูคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยจะไปดู Man -made destination หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น จะมีตั้งแต่สวนสนุกอื่นๆ และ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เข้าไปอยู่ในนั้น แต่ กฎหมายที่กระทรวงการคลังร่างขึ้น ใช้ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ซึ่งพูดถึงเฉพาะเรื่องของ "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" และ การแก้ไขปัญหาการพนัน
ฉะนั้นจึงแคบกว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการ คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงมีความเห็นว่า นโยบายของรัฐบาลกว้างกว่า ดังนั้นถ้าจะเป็น "Man -made destination" ควรจะเขียนให้กว้างขึ้นเพื่อความครอบคลุม รวมถึงมีข้อสังเกตเรื่อง"เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ที่ในรายงานศึกษาของสภาผู้แทนฯ ที่มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาการพนัน แต่กฤษฎีกา มองว่าการสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้แก้ไขปัญหาการพนันโดยตรง ถ้าอยากแก้ไขปัญหาการพนันโดยตรงต้องไปแก้ไขที่อื่น เช่น นิสัยของคน พฤติกรรมของคนที่ชอบเล่นการพนัน ซึ่งก็มีกฎหมายการพนันอยู่แล้ว จึงต้องเอาให้ชัดว่าร่างกฎหมายนี้ต้องการบรรลุวัตถุประสงค์อะไร ค่อยเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา ว่าจะเน้น Man -made destination หรือจะเน้น"เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" ไม่อย่างนั้นก็ร่างไม่ถูก เพราะกระบวนการกลไกต่างกัน
ขณะเดียวกัน "นายปกรณ์" ยังระบุอีกว่า ถ้าเป็น เน้นMan -made destination จะเป็นเหมือนรีสอร์ทขนาดใหญ่ มีทั้งสนามกอล์ฟ สถานบันเทิง เหมือนที่เจอในต่างประเทศ มีที่พักสำหรับครอบครัว และมีกิจกรรมของแต่ละคน มีสวนสนุกและสวนน้ำสำหรับเด็ก สุภาพสตรีมีศูนย์การค้า ขณะที่ผู้ชายจะมีกีฬา ในส่วนของการพนันมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าต้องการเช่นนี้จริงๆ ต้องขยายขอบของกฎหมายให้ครอบคลุม จึงเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีขอให้เอาให้ชัดก่อน พร้อมยืนยันว่าไม่ได้กระโดดขวาง เหมือนที่สื่อบางสำนักพาดหัวไว้ พร้อมถามว่า จะย้ายผมหรือครับ
เมื่อถามว่าในกรณีที่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลจะถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ "นายปกรณ์" อธิบายว่า เรื่องนี้ไม่ถือว่าขัด เพราะ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ อยู่ด้านใน เพียงแต่ว่าเล็กนิดเดียว แต่เป้าหมายของรัฐบาลที่จะทำ หากเป็นMan -made destinationที่จะเป็นการดึงดูดการท่องเที่ยว ก็อยู่ในนโยบายที่เห็นชัดเจน
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ดีก่อนหรือไม่ ไม่ใช่การหมกเม็ดเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี "นายปกรณ์" ออกตัวว่า ไม่ได้บอกว่าหมกเม็ด แค่บอกว่าร่างกฎหมายกับกลุ่มเป้าหมายยังไม่ชัด จึงอยากให้ถามคณะรัฐมนตรีว่าจะเอาอย่างไรแน่ แล้วมาคุยกับสังคมให้ชัด ซึ่งก็ทำได้เหมือนกันไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งหากวันนี้มีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าจะวัดบรรลุวัตถุประสงค์อะไร กฤษฎีกาก็จะไปร่างกฎหมาย ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ตามนโยบายที่รัฐบาลต้องการ สามารถดำเนินนโยบายนี้ได้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้อยู่แล้ว จึงไม่มีประเด็นปัญหาเรื่องนโยบาย เพราะจริงๆสภาฯรับรู้แล้ว ว่าจะมีเรื่องในวันนี้ ถ้าหลักการและเป้าหมายชัดเจน ก็เดินหน้าได้ ไม่มีประเด็นอะไรเลย ไปพาดหัวกันเสียจน ผมจะถูกย้ายออกจากเก้าอี้แล้ว
ขณะเดียวกัน "นายปกรณ์" ยังกล่าวถึงกรณี การตั้งข้อสังเกต แต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สามารถทำได้หรือไม่เนื่องจากนายณัฐวุฒินั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ว่า กฤษฎีกาได้วินิจฉัยไปแล้ว ขอให้สื่อฯไปศึกษาดูความเห็นว่าตรงตามที่มีการวินิจฉัยไว้แล้วหรือไม่