svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วิโรจน์" สวนแนวคิด "จ่ายเงินแลกเกณฑ์ทหาร" ชี้เป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง

"วิโรจน์" สวนแนวคิด ผบ.นรด. "จ่ายเงินแลกเกณฑ์ทหาร" ชี้เป็นเรื่องผิด ฉ้อราษฎร์บังหลวงกลายเป็นถูกกฎหมายไม่ได้ แนะเกณฑ์ทหารเท่าที่จำเป็น 

9 มกราคม 2568  "นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวคิดของ พลโท ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ที่ให้ผู้ที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหาร จ่ายเงินให้กับกองทุน เพื่อนำไปเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้สมัครใจเกณฑ์ทหาร ว่า น่าจะเป็นความพยายามในการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา และเพิ่มอัตราการสมัครใจเกณฑ์ทหาร แต่เป็นการคิดอยู่ในกรอบว่ากำลังพลต้องเท่าเดิม หรือประมาณ 90,000-100,000 นาย แต่คิดว่าบันไดขั้นแรกที่ต้องเริ่มคือ คิดว่ากำลังพลในแต่ละปีควรมีเท่าไหร่ จึงจะสอดรับกับบริบทความมั่นคงในปัจจุบัน และคิดถึงการผสมผสานกับเทคโนโลยีการป้องกันประเทศด้วย ซึ่ง TDRI เคยเสนอว่าให้ลดลงครึ่งหนึ่ง แต่แนวคิดของ ผบ.นรด. คิดอยู่บนพื้นฐานของ 90,000 นาย ขณะที่ปัจจุบันมีผู้สมัครใจเกณฑ์ทหาร 30,000 นายต่อปี 

"นายวิโรจน์" ยังเดาใจของ "พลโท ทวีพูล" ว่า ปัจจุบันคนรวยที่ไม่อยากเกณฑ์ก็จ่ายเงินอยู่แล้วใน 2 ขั้นตอน คือ จ่ายให้กับสัสดี คาดการณ์ว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนคนที่จับได้ใบแดง ต้องเข้ากรมทหาร ก็มีการยกเงินเดือนให้นายในส่วนนี้ คาดว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี ท่านจึงน่าจะต้องการนำเรื่องใต้ดินมาอยู่บนดิน แต่ยืนยันว่าเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะสิ่งที่อยู่ใต้ดินไม่ใช่อบายมุข เราไม่สามารถทำให้การทุจริตคอรัปชั่น การรับสินบน การฉ้อราษฎร์บังหลวง กลายเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายได้ 

"ทุกวันนี้ความเหลื่อมล้ำมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่จากนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย จากที่เคยพูดว่า คุกมีไว้ขังคนจน ต่อไปนี้ค่ายทหารก็จะมีไว้สำหรับคนจนเช่นกัน หน้าที่ป้องกันประเทศไม่ใช่หน้าที่ของคนจนหรือคนรวย แต่เราต้องมาคิดว่า เราต้องการกำลังพลเท่าไหร่ ที่ไม่ต้องไปอยู่บ้านนาย ไม่ต้องคิดถึงเรื่องจจ่ายเงิน หากมีการคิดคำนวณอย่างดีแล้ว ค่อยมาพูดถึงเรื่องงบประมาณ"

 

"นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร

"นายวิโรจน์"  ยังตั้งข้อสังเกตว่า รายได้ของพลทหาร หลังหักค่าใช้จ่ายเหลือประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน ซึ่งใกล้เคียงกันกับค่าจ้างของลูกจ้างตำแหน่งอื่นๆ ที่มีการแข่งขันสูง แต่ทำไมพลทหารถึงไม่มีใครอยากเป็น เป็นเพราะเราไม่สามารถคุ้มครองให้เขามีสวัสดิภาพในการปฏิบัติหน้าที่พลทหารใช่หรือไม่ เราไม่ได้จริงใจ ไม่ได้การันตีว่าหากถูกกระทำจากผู้บังคับบัญชา จะสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างจริงจัง 

ผบ.นรด. ผุดไอเดีย จ่ายเงินเข้ากองทุน แลกกับเกณฑ์ทหาร 


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568  ที่ค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี  "พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร" ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) เปิดเผยถึงตัวเลขความต้องการทหารกองประจำการประจำปี 2568 ว่า ขณะนี้ยังไม่นิ่งเพราะต้องรอสรุปยอดทหารออนไลน์ให้เสร็จสิ้นก่อน จากข้อมูลล่าสุดเมื่อ 7 ม.ค. 68 พบว่า มากกว่าปีที่แล้ว 1,400 กว่าคน ซึ่งยอดสมัครก็ยังไม่ใช่ยอดสุทธิ ต้องผ่านการคัดเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติ และขั้นตอนสุดท้ายคือมารายงานตัว ดังนั้นยังไม่สามารถเคาะยอด 80,000 กว่านายเท่าปีก่อน ที่คาดการณ์กันไว้ได้

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถบอกว่าโครงการสมัครใจเป็นทหาร จะมีคนสนใจเพิ่มขึ้นหรือไม่ ยกเว้นมีปัจจัยที่จะสร้างแรงจูงใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทน หากเพิ่มขึ้นก็ต้องเป็นภาระด้านงบประมาณ และจะใกล้ชนเพดานเงินเดือนทหารชั้นประทวน

"ดังนั้นส่วนตัวคิดว่า ใครไม่เป็นก็จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อมาชดเชยในเรื่องค่าตอบแทนที่เพิ่มชึ้นของผู้ที่สมัครใจเข้ามา แต่นี่เป็นเพียงแนวคิดหนึ่งเท่านั้น เพราะมีทั้งข้อดี ข้อเสีย บางคนก็มองว่าเป็นการแบ่งชนชั้นหรือไม่ แต่จุดนี้ก็จะแก้ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจได้ ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดต่อไป"

"พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร" ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.)

สำหรับวันนี้ ผบ.นรด. เป็นประธานเปิดกองอำนวยการฝึกภาคสนาม นักศึกษาวิชาทหารประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งการฝึกนี้จะเป็นสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ปกครองของนักศึกษาวิชาทหาร รวมทั้งผู้ที่จะเข้ารับการฝึก และประชาชนทั่วไป ได้รับทราบถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในการฝึกภาคสนาม เพื่อสร้างความมั่นใจและคลายความกังวลใจ ของเด็กและผู้ปกครอง ในการส่งบุตรหลานมาเข้ารับการฝึก รวมทั้งได้เห็นถึงความพร้อมของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการฝึก ความพร้อมทั้งทักษะและความชำนาญของครูฝึก