svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"หมอเลี้ยบ"เล่าเบื้องหลัง "30 บาทรักษาทุกโรค" กว่าจะได้ชื่อนี้ มาอย่างไร

"หมอเลี้ยบ" เล่าเกร็ด ที่มาของชื่อ "30 บาทรักษาทุกโรค" ใครคิด ใครตั้งชื่อ ต้อนรับ โครงการ "30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศ" ประเดิมวันนี้ ( 1 มกราคม 2568 ) เป็นวันแรก

1 มกราคม 2568   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจพรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ ข้อความในหัวข้อ "หมอเลี้ยบเล่าเกร็ด ที่มาของชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค"  โดยทีมข่าวการเมืองเนชั่นทีวีออนไลน์ เห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขอนำมาเสนอ 

"เพจพรรคเพื่อไทย"  ได้โพสต์ข้อความว่า  วันนี้ เป็นวันที่โครงการ "30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศ" เปิดบริการครบทั่วประเทศเป็นวันแรก ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โครงการนี้ต่อยอดมาจาก "30 บาทรักษาทุกโรค" หรือที่มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่าโครงการ "โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ที่ริเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2544

ว่าแต่… วลี 30 บาทรักษาทุกโรคนี้ มีที่มาอย่างไร คุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี (แพทองธาร ชินวัตร) เคยเขียนเล่าถึงที่มาของคำว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ดังนี้


วลี "30 บาทรักษาทุกโรค" มาจากไหน

วันที่ 24 ธันวาคม แวะมาเยี่ยมเยือนเมื่อใด ผมมักมีภาพแห่งความทรงจำที่งดงามภาพหนึ่งผุดขึ้นมา แม้จะนาน...นานมาแล้ว แต่ก็ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง

เป็นภาพของคน 6 คน นั่งในห้องประชุมชั้นล่างของอาคารหลังเล็กๆ 2 ชั้นซึ่งเป็นที่ตั้งของพรรคไทยรักไทยเมื่อ พ.ศ.2542

เป็นการพบกันครั้งแรกของคน 2 คนซึ่งจะเป็นที่จดจำไปอีกแสนนาน คนหนึ่งคือ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อีกคนคือ แพทย์หนุ่ม มันสมองสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

การพบกันครั้งนี้ มีที่มาจากประมาณ 4 เดือนก่อนหน้านั้น ผมซึ่งรับหน้าที่ทำนโยบายสาธารณสุขของพรรคไทยรักไทย ขอนัดหมายกับ "นพ.สงวน" ซึ่งผมเรียกติดปากว่า พี่หงวน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องนโยบายสาธารณสุขที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ เพราะพี่หงวนจัดสัมมนาที่นั่น ผมเอ่ยถามพี่หงวนทันทีที่พบคุยกันว่า

"พี่หงวน ชีวิตนี้พี่มีความฝันอะไรที่อยากทำ แต่ทำไม่ได้ หรือยังไม่ได้ทำบ้าง?"

"ผมฝันอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก กำลังจะเสร็จแล้ว คือ กองทุน สสส. แต่อีกเรื่องคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมฝันอยากทำมาก ไปเสนอหลายพรรคแล้ว เขาไม่สนใจ ถ้าเลี้ยบจะให้ผมไปลองเสนอพรรคไทยรักไทยก็ได้"

ภาพถ่ายจากหนังสือ ‘ทักษิณ ชินวัตร ชีวิตและงาน’

พี่หงวนตอบผมด้วยน้ำเสียงนุ่มเนิบที่คุ้นเคย ผมรู้สึกได้ว่า พี่หงวนไม่ได้ฝากความหวังว่า พรรคไทยรักไทยจะช่วยให้ฝันเป็นจริงได้ เพราะเวลานั้น พรรคไทยรักไทยเพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่นาน ยังไม่มีสัญญานใดๆให้จับต้องได้เลยว่า จะชนะการเลือกตั้งใหญ่และผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นจริงได้

จากการพูดคุยนั้น ผมเห็นว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง หากพรรคไทยรักไทยตั้งใจเป็นพรรคการเมืองแบบใหม่ที่ชูนโยบายในการรณรงค์เลือกตั้ง นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็สมควรเป็นนโยบายหลักของพรรค


ผมจึงเสนอนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐมนตรีเงาของพรรค ซึ่งประชุมกันทุกวันพฤหัสบดีช่วงเช้า หลังผมนำเสนอจบ ดร.ทักษิณ ประธานที่ประชุม กล่าวเสริมผมว่า ความเจ็บป่วยของชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรีบแก้ไข จากการที่ตน (ดร.ทักษิณ) ลงพื้นที่ไปพบปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนในต่างจังหวัด เมื่อผ่านโรงพยาบาลชุมชน ก็เห็นผู้ป่วยแออัดเป็นจำนวนมาก แต่บางคนก็ไม่มีเงินไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าพรรคฯสามารถช่วยชาวบ้านในเรื่องนี้ได้ จะเป็นประโยชน์มาก ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ผมไปศึกษาเรื่องนี้มานำเสนอต่อไป

หลังจากนั้น ผมได้ปรึกษาเรื่องนโยบายนี้กับ "นพ.สงวน"เป็นระยะๆ รวมทั้งรับทราบการรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขององค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมี "อ.จอน อึ้งภากรณ์" เป็นผู้ประสานงานร่วมกับ "นพ.สงวน"

ภายหลังจากนัดหมายกันไม่ลงตัวหลายครั้ง ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลาประมาณ 16.00 น. ท่ามกลางแสงแดดอ่อนโยน อากาศเย็นสบาย นพ.สงวนเดินทางมาร่วมประชุมที่ห้องประชุมชั้นล่าง อาคาร 5 พรรคไทยรักไทย ถนนราชวิถี

นพ.สงวนใช้เวลาประมาณ 40 นาทีนำเสนอหลักการและแนวทางเบื้องต้นของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย และแกนนำพรรค

ภายหลังการนำเสนอ ดร.ทักษิณให้ความเห็นว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน มีความเป็นไปได้ในการบริหารงบประมาณ และพร้อมผลักดันเป็นนโยบายสำคัญของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป


ก่อนลาจากกันในวันนั้น ดร.ทักษิณเอ่ยกับ นพ.สงวนแบบทีเล่นทีจริงว่า

"คุณหมอ ชื่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเนี่ย ฟังเข้าใจยาก ชาวบ้านงงแน่ ไม่รู้ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไร น่าจะหาชื่อที่เข้าใจง่ายกว่านี้ เช่น...15 บาทรักษาทุกโรค..อะไรทำนองนี้"

ทุกคนในห้องประชุมหัวร่อกันครื้นเครง ผมจึงรับปากว่า จะไปช่วยกันกับ "นพ.สงวน"หาชื่อนโยบายที่เข้าใจง่ายต่อไป

แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ยังนึกหาชื่อที่เหมาะสมและเข้าใจง่ายไม่ได้สักชื่อ

ระหว่างนั้น พรรคไทยรักไทยก็เตรียมการเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ทั้งการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง การจัดทำนโยบายด้านต่างๆ รวมทั้งการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน

ทุกครั้งที่ทำโพลเกี่ยวกับปัญหาซึ่งประชาชนอยากให้แก้ไข พบว่า เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ยาเสพติด การศึกษา นำโด่งมาตลอด ส่วนปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วยมักอยู่ท้ายโพล ราวกับประชาชนบอกเราว่า ความเจ็บป่วยไม่ใช่ปัญหาที่เขากังวล (หากมองย้อนกลับไป ผมคิดว่า ประชาชนจินตนาการไปไม่ถึงว่า เขาจะสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ในช่วงชีวิตนี้)

ผมสังเกตว่า ทุกครั้งที่ผลโพลด้านปัญหาสาธารณสุขอยู่รั้งท้าย "ดร.ทักษิณ"รู้สึกผิดคาดระคนผิดหวังอยู่เสมอ ส่วนผู้บริหารพรรคท่านอื่นๆต่างก็ให้ความเห็นว่า พรรคควรชูนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และยาเสพติด เป็นหลัก บางท่านบอกความในใจกับผมภายหลังว่า ตอนนั้นเขาไม่เชื่อเลยว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นไปได้ รวมทั้งทำโพลเรื่องสาธารณสุขกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ประชาชนกังวลอยากให้แก้ไข

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคนอื่นจะคิดหรือพูดอย่างไร "ดร.ทักษิณ"ยังคง "หลงใหล" ในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยติดตามความคืบหน้ากับผมตลอดเวลา รวมทั้งไถ่ถามเรื่องชื่อของนโยบาย

และแล้ว...เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเดินหน้าสู่การประกาศนโยบายหลักของพรรค ผมคิดชื่อของนโยบายขึ้นมาหลายชื่อ แต่ไม่ได้ชื่อที่เหมาะสมและเข้าใจง่ายอย่างที่ต้องการแม้แต่ชื่อเดียว

วันหนึ่ง ความคิดบางอย่างจู่ๆแวบขึ้นมา ผมนึกย้อนกลับไปที่คำพูดของหัวหน้าพรรคเมื่อวันแรกที่ได้รับรู้เรื่องนโยบายนี้

15 บาทรักษาทุกโรค...

อือม...เข้าใจง่ายนะ บอกผลลัพธ์ของนโยบายได้ดี แต่ 15 บาท...ตัวเลขนี้เหมาะสมหรือไม่

ผมได้รับการบอกเล่าจากหลายคนว่า ถ้าไม่มีการเรียกเก็บเงิน หรือเรียกเก็บน้อยเกินไป อาจเกิดการรับบริการพร่ำเพรื่อหรือไม่จำเป็น

แต่ผมก็ทราบดีว่า ถ้าเรียกเก็บเงินมากเกินไปเมื่อมารับบริการ อาจเกิดปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย

15 บาทน้อยไปไหม...100 บาทล่ะมากไปไหม...จำนวนเงินเท่าไรจึงเหมาะสม จะใช้ทฤษฎีใดตัดสินใจ (ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในสมัยนั้นก็ยังเพิ่งอยู่ในยุคเริ่มต้น)

ผมมาสะดุดคิดตรงที่ ผมต้องขับรถโดยใช้ทางด่วนเฉลิมมหานครบ่อยๅ ผมสังเกตว่า รถที่ใช้ทางด่วนมีจำนวนน้อยกว่ารถที่ใช้ทางปกติ ผู้ใช้ทางด่วนยอมเสียค่าผ่านทางเพื่อแลกกับการทำเวลาไปถึงเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้ไม่เร่งรีบ ไม่มีธุระสำคัญ ก็ไม่ยอมเสียค่าผ่านทางขึ้นทางด่วน เพราะไม่จำเป็น

ค่าผ่านทางด่วนเฉลิมมหานครใน พ.ศ.2542 คือ 30 บาท

30 บาทเป็นจำนวนที่ทำให้ผู้ขับรถต้องตัดสินใจเลือกว่า ทางด่วนหรือทางปกติ ทางใดที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของตน

30 บาท...30 บาท...30 บาท
.
ดังนั้น เมื่อ "ดร.ทักษิณ" ถามถึงชื่อนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมจึงขออนุมัติใช้ชื่อ "30 บาทรักษาทุกโรค" แทน ซึ่ง ดร.ทักษิณเห็นพ้องด้วย

ต่อมา เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลารณรงค์เลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ.2544 ในทุกเวทีหาเสียง หัวหน้าพรรคไทยรักไทยใช้เวลาในการปราศรัยถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างเอาจริงเอาจัง แม้ในขณะนั้น มีผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่น้อยไม่ยอมเอ่ยถึงนโยบายนี้ ถึงขนาดบางคนลบป้ายหาเสียงที่ย้ำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคทิ้งเพราะ คิดว่าเป็นไปไม่ได้

ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นปัจจัยสำคัญหรือไม่ ที่ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เป็นปาฏิหารย์ทางการเมือง ด้วยจำนวน ส.ส.248 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง

แต่ที่ผมรู้แน่นอนก็คือ เย็นวันที่ 6 มกราคมนั้นเอง หลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ดร.ทักษิณ ยิ้มกว้างอย่างมีความสุขและบอกผมทันทีเมื่อพบกันว่า

"หมอ...เรามาลุย 30 บาทกัน"


\"หมอเลี้ยบ\"เล่าเบื้องหลัง \"30 บาทรักษาทุกโรค\" กว่าจะได้ชื่อนี้ มาอย่างไร