พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการออกประกาศหลักเกณฑ์ “ระเบียบกักขังนอกเรือนจำ” ว่า ขณะนี้ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเสร็จแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจไม่มีการแก้ไขอะไร ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมาก บางที่อาจต้องให้ผู้ต้องขังออกไปอยู่ข้างนอก โดยที่คุมขังอื่น อาจเป็นที่คุมขังเหมือนกันไม่ต่างอะไร เขาจะอยู่ได้แค่ในที่นั้น เพียงแต่ไม่ให้เกิดความแออัด เช่น คนเป็นโรคไตวาย จะไว้ในเรือนจำไม่ได้ อีกทั้งโรงพยาบาลทัณฑสถานเองก็เล็ก คาดว่า จะได้ใช้ระเบียบดังกล่าวแล้ว เดิมคิดว่า จะแล้วเสร็จก่อนช่วงปีใหม่ หลังทำประชาพิจารณ์เสร็จเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เนื่องจากระเบียบดังกล่าวมีขั้นตอน มีคณะกรรมการระดับกรม , ผู้บัญชาการเรือนจำ , องค์กรที่เข้ามาช่วยดู และที่สำคัญผู้ที่ออกไปต้องติดกล้องเพื่อให้ดูได้ บางส่วนอาจติดกำไร EM รวมถึงมีการจำกัดพื้นที่
ส่วนจะมีการบังคับใช้ครั้งแรกในช่วงเดือนมกราคม 2568 ได้หรือไม่นั้น พันตำรวจเอกทวี คาดว่า หลังเดือนมกราคม ซึ่งโทษส่วนใหญ่จะเป็นโทษเล็กน้อยตั้งแต่ 4 ปีลงมา และหากเรือนจำไหนพร้อมก็จะดำเนินการ โดยจะต้องพิจารณาเรื่องของสุขภาพ และมีความผิดน้อยก่อน โดยจะต้องเป็นต้องโทษ 4 ปี และมีการประเมิน ซึ่งคณะกรรมการฯ และ ผบ.เรือนจำต้องพิจารณา
ส่วนกรณีที่มีข้อกังขาระเบียบดังกล่าวทำเพื่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น พันตำรวจเอกทวี ยืนยันว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ และมีโทษสูงกว่าที่กำหนด
ขณะเดียวกัน ในวันนี้ (29 ธ.ค.) พันตำรวจเอกทวี ยังได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์และญาติ ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องในโอกาสเทศกาลปีใหม่ 2568 โดยระบุว่า กรมราชทัณฑ์ มีเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ โดยที่คลองเปรม มีเรือนจำ 5แห่ง ผู้ต้องราชทัณฑ์รวม 2 หมื่นกว่าคน โดยเทศกาลปีใหม่ กระทรวงยุติธรรมได้มอบของขวัญให้ประชาชนได้เยี่ยมญาติและมีการจำหน่ายสินค้าของดีราคาถูก และส่งผู้ต้องราชทัณฑ์ทำสาธารณประโยชน์ นอกเรือนจำ ซึ่งทัณฑสถานหญิงกลาง มีผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหมด 4,000 คน และต่างจากเรือนจำอื่นที่ผู้ต้องราชทัณฑ์เป็นคดียาเสพติดส่วนใหญ่ถึง 80% แต่ที่ทัณฑสถานหญิงส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นคดียาเสพติด 40% ปีใหม่นี้จึงเปิดให้เยี่ยมญาติใกล้ชิดถึงสิ้นเดือนมกราคม ส่วนผู้ต้องราชทัณฑ์ที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ก็ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ การจัดให้ญาติยี่ยมใกล้ชิด จะทำให้ ญาติคลายความเป็นห่วงกังวล ซึ่งมีหลัก 6 ด้าน ได้แก่ ต้องจัดที่อยู่อาศัยอย่างเสมอภาค อาหารครบ 3 มื้อ มีนักโภชนาการดูแลอย่างถูกหลักอนามัย สร้างโอกาสด้านการศึกษา ทั้งนี้พบผู้ต้องขังกว่า 2 แสนคน มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน จึงต้องจัดการศึกษาเพิ่มเติม และดูแลอัตลักษณ์ ผู้ต้องราชทัณฑ์มุสลิม และ การสร้างอาชีพ เพื่อให้มีงานทำหลังพ้นโทษ และไม่ทำผิดซ้ำอีก