นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 ของนิด้าโพล ที่พรรคประชาชน (ร้อยละ 37.30) และตนเอง (ร้อยละ 29.85) ได้รับคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทย (ร้อยละ 27.70) และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ร้อยละ 28.80) ได้รับคะแนนนิยมตามมาเป็นอันดับสอง โดยขอขอบคุณประชาชน ที่สะท้อนเสียงคะแนนนิยมออกมาผ่านผลโพล พร้อมเห็นว่า ผลโพลมีขึ้นมีลงเสมอ ขึ้นเมื่อใดต้องไม่หลง ลงเมื่อใดต้องไม่ท้อ และที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ถึงแม้ผลโพลจะสะท้อนออกมาว่า พรรคประชาชนยังไม่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ไม่เสียสมาธิ และยังคงมุ่งมั่นตั้งใจทำงานและผลักดันการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น การแก้ปัญหาค่าไฟแพง ที่ล่าสุดส่งผลให้เกิดการชะลอการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาชนได้รับคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น
นายณัฐพงษ์ ยังกล่าวว่า เพื่อยืนยันว่า พรรคฯ ไม่ได้หลงกับผลโพลที่เพิ่มขึ้น พรรคประชาชน จะมุ่งมั่นทำงานต่อไปอย่างหนัก โดยมีการตั้งปณิธานประชาชน 2568 หรือ New Year’s Resolutions จำนวน 9 ข้อ ที่จะมุ่งมั่นผลักดันให้สำเร็จในปี 2568 เพื่อร่วมกันเปลี่ยนประเทศไทยผ่านกลไกรัฐสภา จึงขอให้ประชาชนสนับสนุนพรรคประชาชน และยืนยันจะมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนต่อไป
:: “นิด้าโพล” เปิดผลสำรวจความนิยมการเมืองครั้งที่ 4 รอบนี้ “เท้งเต้ง” ณัฐพงษ์ แซง “แพทองธาร” ขณะที่ พรรคการเมืองยอดนิยม ยังเป็น พรรคประชาชน ::
โดยในวันนี้ (29 ธ.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4 ประจำปี 2567 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-24 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า
อันดับ 1 ร้อยละ 29.85 ระบุว่าเป็น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (พรรคประชาชน) เพราะ มีความมุ่งมั่นในการสานต่ออุดมการณ์ของพรรคและมีบทบาทที่เข้ากับคนรุ่นใหม่
อันดับ 2 ร้อยละ 28.80 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและมุมมองทันสมัยในด้านการเมือง
อันดับ 3 ร้อยละ 14.40 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้
อันดับ 4 ร้อยละ 10.25 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ เป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและมีภาพลักษณ์ของผู้นำที่เข้าถึงง่าย
อันดับ 5 ร้อยละ 6.45 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีความสามารถในการบริหารงาน และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศ
อันดับ 6 ร้อยละ 4.95 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ทางการเมืองที่ยาวนาน และยืนหยัดในอุดมการณ์ประชาธิปไตย
อันดับ 7 ร้อยละ 1.70 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) เพราะ เป็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่นและมีประสบการณ์การทำงานยาวนาน
อันดับ 8 ร้อยละ 1.05 ระบุว่าเป็นนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ ชื่นชอบผลงานและแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 2.55 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ (พรรคกล้าธรรม) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) นายกัณวีร์ สืบแสง (พรรคเป็นธรรม) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายกรณ์ จาติกวณิช
เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า
อันดับ 1 ร้อยละ 37.30 ระบุว่าเป็นพรรคประชาชน
อันดับ 2 ร้อยละ 27.70 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย
อันดับ 3 ร้อยละ 10.60 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ
อันดับ 4 ร้อยละ 8.20 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้
อันดับ 5 ร้อยละ 5.15 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย
อันดับ 6 ร้อยละ 3.40 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์
อับดับ 7 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ
อับดับ 8 ร้อยละ 2.50 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย
อับดับ 9 ร้อยละ 1.00 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติและร้อยละ 1.10 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคกล้าธรรม พรรคไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.75 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.70 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.10 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.90 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.80 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.95 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.65 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.70 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.45 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.65 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.90 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 35.75 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.15 สมรส และร้อยละ 2.10 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 1.10 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 17.30 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 36.60 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.85 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 31.05 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.10 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.75 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 19.10 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.50 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 10.35 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.00 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.65 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงานและร้อยละ 5.65 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 19.10 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 3.45 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 14.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 34.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 11.20 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 2.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 1.60 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,001-60,000 บาท ร้อยละ 0.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 60,001-70,000 บาท ร้อยละ 0.10 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 70,001-80,000 บาท ร้อยละ 0.35 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 80,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.85 ไม่ระบุรายได้