อาจารย์พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร
เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้แถลงผลการ ดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงเวลา 90 วันที่รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้แถลงนโยบาย ทั้งหมด 11 นโยบาย โดยแบ่งเป็นโยบายระยะยาวที่ต้องทำในเชิงโครงสร้าง 6 นโยบายและนโยบายที่ จะเกิดขึ้นในปี 2568 จำนวน 5 นโยบาย
หนึ่งในนโยบายที่นายกฯแถลง คือ นโยบายด้านเทคโนโลยี ที่เน้นถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็น AI Hub ของภูมิภาค เนื่องจากในปัจจุบัน มีบริษัทใหญ่มาลงทุนทำศูนย์ข้อมูล (Data center) เป็นเงินลงทุนมากกว่าล้านล้านบาท และรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะสร้างคนในเรื่องของ เทคโนโลยีและ AI โดยให้ไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น ตั้งเป้า 280,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี
(รวมทั้งการพัฒนาทักษะทางภาษา และ AI ให้เด็ก ๆ ในทุกอำเภอ เพื่อเตรียมพร้อมเด็กไทยสู่การ เติบโตที่เข้มแข็งและแข็งแรง และมีการศึกษาที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้จะเริ่มให้ลงทะเบียนในปี 2568)
หลังจากนายกฯแถลงผลงานผ่านไปเพียงไม่กี่วัน คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและเป็นพ่อของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้ไปเป็นวิทยากรกล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย” ในงานสัมมนา “ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก” ที่หอประชุม ราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในตอนหนึ่งคุณทักษิณได้กล่าวถึง ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ว่า
สิ่งที่คนอีสานต้องเรียนรู้อีกอย่างคือ AI คือการสั่งให้เครื่องทำงาน โดย ให้มหาวิทยาลัยเป็นแกนกลางในการสอน เช่น การใช้ Chat GPT กล่อมลูกจะได้มีเวลาไปทำงาน ในส่วนอย่างอื่น รัฐบาลจะกลับมาขอความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นกลไกในการพัฒนา บุคลากร
แสดงให้เห็นว่าทั้งรัฐบาลและคุณทักษิณกำลังจะผลักดันให้ เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และคนไทยคงจำเป็นต้องเตรียมปรับตัวกับการรับเทคโนโลยี AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันในอนาคตอันใกล้
แนวคิดหลายอย่างจากการปาฐกถาของคุณทักษิณยังคงเป็นเรื่องน่าสนใจ เช่น เรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร การขนส่งคมนาคม การค้าขาย การพัฒนาโอท็อปสมัยใหม่ ฯลฯ
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อคุณทักษิณพูดถึงเรื่องของเทคโนโลยี AI ในตอนหนึ่งว่า “การใช้ Chat GPT กล่อมลูกจะได้มี เวลาไปทำงานอย่างอื่น”
คำพูดของคุณทักษิณไม่ว่าจะมีเจตนาดีเพียงใดก็ตาม แต่ฟังกี่ครั้งก็ยังแอบคิด และแทบจะแปลความเป็นอื่นไม่ได้เลย นอกจากอดีตนายกฯ กำลังส่งเสริมให้มนุษย์เลี้ยงดูลูกด้วย เทคโนโลยี แทนที่จะให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ โดยส่งเสริมให้คนเลี้ยงลูกด้วยมือของพ่อแม่ ซึ่งเป็นมนุษย์ด้วยกันและใช้เทคโนโลยีสนับสนุนในบางโอกาสภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของพ่อและแม่ ที่พอจะมีความรู้และความเข้าใจทั้งเรื่องเทคโนโลยีและจิตวิทยาเด็ก ดีกว่าที่จะให้พ่อแม่ทิ้งลูกให้ อยู่กับ Chat GPT โดยลำพัง ผ่านมือถือหรือแท็บเล็ตและไปทำงานอื่นอย่างที่คุณทักษิณได้กล่าวไว้
แนวคิดที่คุณทักษิณพูดในวันนั้นเข้าใจว่าเป็นการเน้นเรื่องการให้คนทั่วไปหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อความอยู่ดีกินดี แต่ในทางกลับกันดูเหมือนว่าคุณทักษิณกำลังจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างพ่อแม่กับลูกห่างเหินกันยิ่งขึ้น เพราะเริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามา เป็นตัวกลางในการดูแลหรืออีกนัยหนึ่งอาจพูดได้ว่าคุณทักษิณให้คุณค่าของเทคโนโลยีโดยมองประโยชน์ของเทคโนโลยีสำคัญเหนือกว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้โดยง่าย
แนวคิดที่คุณทักษิณพูดในวันนั้นเข้าใจว่าเป็นการเน้นเรื่องการให้คนทั่วไปหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อความอยู่ดีกินดี แต่ในทางกลับกันดูเหมือนว่าคุณทักษิณกำลังจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างพ่อแม่กับลูกห่างเหินกันยิ่งขึ้น เพราะเริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามา เป็นตัวกลางในการดูแลหรืออีกนัยหนึ่งอาจพูดได้ว่าคุณทักษิณให้คุณค่าของเทคโนโลยีโดยมองประโยชน์ของเทคโนโลยีสำคัญเหนือกว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีจะสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้โดยง่าย
ทุกคนทราบดีว่า "มนุษย์คือสัตว์สังคม" ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็น ธรรมชาติที่มนุษย์ดำรงคุณสมบัติหรือความสัมพันธ์นี้มานานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
มนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นจึงเดิน ตามกฎของธรรมชาติเสมอมา ก่อนที่ความสัมพันธ์เหล่านี้ค่อยๆ เปลี่ยนไปเมื่อเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียมาถึง
ในโลกแห่งความเป็นจริง มนุษย์มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน แบบมีตัวตน(Embody) ซึ่ง หมายความว่ามนุษย์ใช้ร่างกายซึ่งเป็นตัวตนของตัวเองในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น มีการ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของเรากับตัวตนของผู้อื่นแบบซึ่งหน้า ความสัมพันธ์กับผู้คนอาจเกิดขึ้นแบบตัวต่อตัวหรือกับคนอีกหลายๆ คน
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับคนในสังคมยังมีความคุ้มค่าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม มนุษย์จึงพยายามรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้โดยหลีกเลี่ยงที่จะสร้างความรู้สึกบาดหมาง หรือขุ่นเคืองใดๆ ระหว่างกัน ต่างจากการที่เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนที่เกิดจากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียหรือก้าวเข้าไปถึงขั้นปัญญาประดิษฐ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ปรับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
การแสดงออกระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ผ่านเทคโนโลยีซึ่งเป็นตัวกลาง กลายเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ที่ตรงกันข้ามกับการพบหน้ากันโดยตรง เมื่อหากฟังจากแนวคิดของคุณทักษิณแล้วดู เหมือนว่าคุณทักษิณกำลังผลักดันให้เด็กไทยและพ่อแม่เข้าไปสู่ยุคความสัมพันธ์แบบไร้ตัวตน (Disembodied) ระหว่างครอบครัวโดยทางอ้อม ซึ่งหมายถึงการเลี้ยงลูกโดยผ่านตัวกลางโดยไม่ต้องปรากฏตัวต่อหน้า เป็นการใช้ภาษาในการสื่อสารแทนการแสดงตัวตนผ่านเครื่องมือเพื่อให้พ่อแม่ ไปทำงานอื่นซึ่งจะส่งผลให้ความสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวลดลง
วิธีสื่อสารประเภทนี้ในทางวงการธุรกิจถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากนำมาใช้ในครอบครัวจะกลายเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวมีความเปราะบางที่จะเกิดความห่างเหินและขัดแย้งได้ตลอดเวลา จากการรับรู้ของเด็กผ่านเทคโนโลยีซึ่งอาจตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงจากชีวิตจริง ด้วยสิ่งแปลกปลอมและภาพลวงตา มากมายที่แฝงมากับโลกออนไลน์ เพราะปัญญาประดิษฐ์ประเภท ChatGPT ไม่ได้มองเห็นโลกอย่างที่เราเห็น ไม่ได้เข้าใจโลกอย่างที่มนุษย์เข้าใจ และยังไม่มีความเสถียรมากพอที่จะไว้ใจได้
การที่เด็กคนหนึ่งจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในภายภาคหน้านั้นในแต่ละช่วงวัยจะมีกระบวนการ เปลี่ยนผ่านซึ่งเกิดจากการพัฒนาทางร่างกายและการพัฒนาการทางสมองตามลำดับ
ประสบการณ์ที่ได้รับในแต่ละช่วงวัยของการเจริญเติบโตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สังคมยอมรับหรือถือว่าประสบความสำเร็จในสังคมนั้นๆ เพราะการเรียนรู้ของเด็กในช่วงเวลา หนึ่งๆ เป็นเสมือนการเปิด “หน้าต่างเวลา” (Window of time) ที่ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ประสบการณ์หลายอย่าง ณ เวลานั้นๆ เช่น การเรียนรู้ที่จะปฏิสัมพันธ์กับ พ่อแม่และคนในครอบครัว การเรียนรู้ที่จะเล่นกับเพื่อน หรือการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงวัยหนึ่งเท่านั้น
เมื่อเวลาผ่านไป หน้าต่างเวลาสำหรับการเรียนรู้บางอย่างสำหรับวัยนั้นจะถูกปิดลง การเรียนรู้ ประสบการณ์บางอย่างในช่วงอายุของมนุษย์ เมื่อหน้าต่างเวลาถูกปิดลงแล้วจึงเป็นเรื่องที่ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย “หน้าต่างเวลา” จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ที่ต้องกักตุนไว้ เพราะเราไม่สามารถหวนกลับไปเปิดหน้าต่างเวลาบานนั้นได้อีกแล้วเมื่อเติบโตถึงวัยหนึ่ง
“หน้าต่างเวลา” จึงเป็นช่วงเวลาวิกฤติของเด็กที่ต้องเรียนรู้ประสบการณ์รอบตัวในฐานะมนุษย์ จึงเป็นที่น่าเสียดายหากช่วงเวลาเหล่านี้ขาดหายไป เพราะถูกปิดกั้นด้วยเทคโนโลยีประเภทสมาร์ทโฟน และการทุ่มเทเวลาให้กับแพลตฟอร์ม ChatGPT, TikTok, ยูทูป, เฟซบุ๊ก, IG ฯลฯ ซึ่งหยิบยื่นคอนเทนต์มากมายมาให้เด็กเกือบตลอดเวลา
การได้รับประสบการณ์จากมนุษย์จึงเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาการทางอารมณ์และสติปัญญาของเด็กยิ่งกว่าการสัมผัสกับเทคโนโลยีใดๆ
ฌอน ปาร์คเกอร์ อดีตประธานเฟซบุ๊ก เคยเตือนสติผู้คนไว้ว่า
“ พระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่า โซเชียลมีเดียกำลัง ทำอะไรกับสมองเด็กๆ ของเรา” (God only knows what it’s doing to our chirldren’s brains)..."
เทคโนโลยีคือสิ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ เทคโนโลยีจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายต่อมนุษย์ เพราะเทคโนโลยีมีคุณค่าต่อการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์มีสุขอนามัยดีขึ้นเป็นผลให้มีอายุยืนยาวขึ้น ไม่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน เทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ เราจึงต้องอยู่กับเทคโนโลยีตราบเท่าที่เรายังใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้
แต่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีคือทุกสิ่งที่มนุษย์ต้องทำตัวให้ผูกติดกับเทคโนโลยีตลอดเวลา จนเหมือนถูกโปรแกรมจนเป็นมนุษย์กลายพันธุ์ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคาดหวังว่าเทคโนโลยีสามารถจะสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับมนุษย์ได้ดังที่ใครต่อใครวาดภาพไว้นั้น ไม่น่าจะเป็นความจริง
มนุษย์ยังคงต้องการความอ่อนโยน การสัมผัส การสบตา ความห่วงใย ความมีน้ำใจ การ ระลึกถึง ฯลฯ จากมนุษย์ด้วยกันอย่างน้อยที่สุด ณ วันนี้ เทคโนโลยียังไม่สามารถเลียนแบบได้
การที่เราจะมองเทคโนโลยีเป็นสูตรสำเร็จในการใช้ชีวิตของมนุษย์แบบคุณทักษิณ และนักเทคโนโลยีนั้นจะทำให้หลายคนอาจลืมความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ไป นี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ความเป็นมนุษย์ที่พึ่งพาเทคโนโลยีจนกระทั่งลืมไปว่าเราคือ “มนุษย์” ที่เป็นผลผลิตของธรรมชาติ และต้องอยู่กับธรรมชาติตราบเท่าที่เรายังต้องการคงความมีคุณค่าของมนุษย์เอาไว้
มนุษย์มักเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้งในแง่มุมของการทำงาน การใช้ประโยชน์และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่มนุษย์แทบจะไม่เข้าใจถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีในแง่มุมทางสังคม ที่ยากต่อการเข้าใจและเข้าถึง ทั้งที่มนุษย์ได้เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง
มนุษย์จึงมักมองข้ามผลกระทบทางสังคมจากเทคโนโลยีประเภทดิจิทัล เช่น โซเชียลมีเดียและปัญญาประดิษฐ์ไป เพราะผู้คนมองไม่เห็นผลกระทบซึ่งหน้าโดยฉับพลัน แต่มักเป็นผลกระทบที่มักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว
การส่งเสริมให้ผู้คนใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องจำเป็น แต่เทคโนโลยียุคปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่ “ไม่ใช่ค้อนกับทั่ง” เหมือนในอดีต แต่เป็นเทคโนโลยีที่สามารถ โน้มน้าว โปรโมต และบิดเบือน หลอกล่อผู้คนให้ติดอยู่กับจอเพื่อเพิ่มจำนวนการมีส่วนร่วม(Engagement) และสอดส่องความเป็นส่วนตัว เพื่อเก็บข้อมูลไปเรียนรู้
ผู้ใช้เทคโนโลยีแต่ละคนจึงต้องรู้ทันและจำเป็นต้องมีเกราะป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากมลพิษทางข้อมูลที่มากับเทคโนโลยีเหล่านี้
การส่งเสริมให้ผู้คนใช้เทคโนโลยีโดยไร้เกราะป้องกันโดยเฉพาะกับเด็กนั้น จึงเป็นเหมือนการนำเอาพิษที่อยู่รอบตัวที่กำลังจ้องแทรกซึมเข้ามา ผ่านเทคโนโลยีมาสู่สังคมไทยโดยตรง เราจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบกับปัญหาการหลอกลวงฉ้อโกง การคุกคามทางเพศ การเชื่อข้อมูลเท็จมากกว่าความจริง และภัยไซเบอร์ต่างๆ อยู่แทบตลอดเวลา ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาระยะยาวแก่สังคมจากเทคโนโลยีโดยคนส่วน ใหญ่คาดไม่ถึง
ขณะที่นักจิตวิทยา แพทย์ และนักการศึกษาทั้งโลกมีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบจากเทคโนโลยีที่มีต่อเด็กและสังคมและรณรงค์ให้ระมัดระวังเรื่องผลกระทบจากเทคโนโลยีประเภทโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ตที่จะเกิดแก่เด็ก เช่น หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี อยู่กับหน้าจอและควบคุมเวลาอยู่หน้าจอและใช้อุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟน และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ อย่างเหมาะสมตามวัย
สำหรับเด็กโต หรือประวิงเวลาการยอมให้เด็กใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียออกไปให้มากที่สุด การลดเวลาการอยู่หน้าจอสำหรับคนทุกวัยคือคำแนะนำที่ควรถือปฏิบัติ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และเพิ่มความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งเปิดหน้าต่างเวลาเพื่อให้เด็กวัยกำลังพัฒนาตัวเองอยู่ในโลกแห่งความจริงให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดโอกาสไม่ให้คอนเทนต์ที่เป็นภัยเข้ามาสู่สายตาของเด็ก และกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ของเด็กตามวัย
แต่แนวคิดของคุณทักษิณดูเหมือนตรงกันข้าม คำพูดจากอดีตนายกฯ ในงาน ISAN NEXT ภายในสถานศึกษา นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความมีอิทธิพลทางการเมืองตัวจริงของคุณทักษิณแล้วยัง สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่เรียกกันว่า Techno-solutionism ซึ่งเป็นแนวคิดที่คาดหวังผลจากเทคโนโลยี และเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถตอบโจทย์ทุกอย่างให้กับมนุษย์โดยขาดการคำนึงถึงความเป็นมนุษย์และสังคมรอบตัว
ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะความเป็นมนุษย์มีความซับซ้อนเกินกว่าเทคโนโลยีใดๆ จะเข้ามาแก้ปัญหาได้ มนุษย์เท่านั้นที่จะเข้าใจธรรมชาติ ของมนุษย์ด้วยกันเอง
มุมมองของคุณทักษิณจึงเป็นการมองเฉพาะภาพของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยขาดการใส่ใจเรื่องทางสังคมจนทำให้เกิดความน่าเป็นห่วงทิศทางในอนาคตของเด็กไทย หากมีการส่งเสริมให้พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยีโดยขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่ได้มองผลกระทบรอบด้าน
ไม่ว่าคุณทักษิณและลูกสาว(นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน) กำลังจะทำให้คนอีสานมีความมั่งคั่งหรือร่ายคาถาให้ผู้คนฟังด้วยการขายฝันเรื่องการใช้เทคโนโลยี AI ให้คนอีสานหรือขายวาทกรรมเพื่อเรียกคะแนนเสียง หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดๆ ก็ตาม คำพูดประโยคเดียวในวันนั้นของคุณทักษิณแม้เป็นประโยคสั้นๆ แต่คุณทักษิณเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดที่สามารถทำให้คนกลุ่มใหญ่คล้อยตามได้
คำพูดของคุณทักษิณจึงอาจมีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น หากผู้คนนำแนวคิดของคุณทักษิณไปใช้เลี้ยงดูลูกหลานโดยไร้มาตรการป้องกัน เพราะไม่มีเทคโนโลยีใดในโลกที่สามารถทดแทนความอบอุ่น และปลอดภัยภายใต้อ้อมอกพ่อแม่ที่เป็นมนุษย์ด้วยกันได้
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก : กรมประชาสัมพันธ์