จากกรณีที่ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบกำหนดวันเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2567/68 ของ 58 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเป็นรายภาค โดยเริ่มจากภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.67 นั้น
15 ธันวาคม 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาล เกษตรกรชาวไร่อ้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันลดการปล่อยมลพิษ เก็บเกี่ยวอ้อยสดเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อยแล้ว ยังได้มีมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวัง และควบคุมการปล่อยมลพิษในช่วงเปิดหีบอ้อย โดยทีมตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม
ที่นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สุ่มตรวจวัดค่ามลพิษทางอากาศโรงงานน้ำตาลใน จ.ชัยภูมิ, มุกดาหาร และกาฬสินธุ์
จากการสุ่มตรวจพบ บริษัท น้ำตาลระยอง จำกัด จ.ชัยภูมิ มีค่ามลพิษจากปล่องระบายอากาศเกินค่ามาตรฐานทั้งหมด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิ จึงสั่งให้โรงงานหยุดกระบวนการผลิตทั้งหมด และสั่งให้โรงงานแก้ไขปรับปรุงระบบบำบัดอากาศโดยเร็วที่สุด
เมื่อโรงงานแก้ไขปรับปรุงเสร็จแล้วให้แจ้งกลับมายังสำนักงานฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบแล้วหากเข้าเกณฑ์มาตรฐานถึงจะพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินการกระบวนการผลิตต่อได้
กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 7 พันล้านบาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบและยอดอ้อย ที่นอกจากจะลดการลักลอบเผาอ้อย
ลดมลพิษ PM2.5 แล้วยังจะทำให้ชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 120 บาท/ตันอ้อย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเกษตร และสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม