svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วงเสวนา ทร. เลี่ยงแจงปม "MOU 44" เจรจาเขตแดน-ผลประโยชน์ทางทะเล ไทย-กัมพูชา

วงเสวนา "ทร." เลี่ยงแจงปม "MOU 44" เจรจาเขตแดน-ผลประโยชน์ทางทะเล ไทย-กัมพูชา สื่อจี้ถามจุดยืน ทำผู้เชี่ยวชาญอึกอัก บอกตอบไม่ได้ ให้ถามวงระดับชาติ ย้ำลงนาม "MOU 44" มีปัจจัยเปลี่ยนตามเวลา-เรื่องซับซ้อน ต้องรอรัฐบาล แต่ย้ำ ทร. ยึดตามเส้นเขตแดน

3 ธันวาคม 2567  ที่กรมยุทธศึกษา จ.นครปฐม  กองทัพเรือ จัดงานเสวนาวิชาการ "หลักกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล" เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพเรือ ความท้าทายที่กองทัพเรือต้องเผชิญ 

โดยมีวิทยากรประกอบด้วย "นาวาเอก เกียรติยุทธ เทียนสุวรรณ"รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารเรือ , นาวาเอกหญิง มธุศร เลิศพานิช รองผู้อำนวยการกองกฤษฎีกา สำนักงานพระธรรมนูญทหารเรือ , นาวาเอก รชต โอศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ และ นาวาเอก สมาน ได้รายรัมย์ อาจารย์ฝ่ายศึกษาโรงเรียนนายเรือ

ขณะเดียวกันมี"นายคำนูญ สิทธิสมาน" อดีตสมาชิกวุฒิสภา และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเกาะติดเรื่อง"MOU 44" มาร่วมรับฟังด้วย

กองทัพเรือ จัดงานเสวนาวิชาการ "หลักกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล" เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพเรือ ความท้าทายที่กองทัพเรือต้องเผชิญ 

ช่วงหนึ่ง"นาวาเอก รชต" ได้ยกตัวอย่าง พื้นที่ไทย-มาเลเซียในอดีต ที่มีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ 7,250 ตารางกิโลเมตร สาเหตุของการทับซ้อนของไหล่ทวีปไทย-มาเลเซีย หลักๆจะเกิดจากเกาะโลซิน ซึ่งไทยเป็นเจ้าของ ส่วนมาเลเซียเห็นว่าเกาะโลซินมีขนาดเล็กและอยู่ไกล จึงไม่ให้นับมาอ้างสิทธิได้ ที่ผ่านมาไทย-มาเลเซียก็มีการพูดคุยกันมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนปี 2515 โดยก่อนหน้านี้เคยมีปัญหากัน เช่น การจับกุมหรือประมง การเผชิญหน้าของกำลังทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งปี 2515 ไทย-มาเลเซีย ก็มาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรเมื่อเขตทางทะเลไม่ชัดเจน โดยเริ่มตกลงกันที่ทะเลอาณาเขต เราใช้เวลา 7 ปี สุดท้ายตกลงว่าใช้ประโยชน์ร่วมกัน จะเห็นได้ว่าใช้เวลาไม่นาน และตั้งคณะกรรมการร่วมบริเวณที่ 2 คือ การอ้างสิทธิทับซ้อนไทย-เวียดนาม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับเวียดนาม เราใช้ความจริงใจในการพูดคุย เราใช้การคุยกันถึง 9 ครั้ง ใน 5 ปี ด้วยความเข้มข้น จนได้รับการชื่นชมจากหลายประเทศ

ด้าน "นาวาเอกหญิง มธุศร" ได้ย้ำถึงหลักการกำหนดอาณาเขตทางทะเลว่าอยู่ภายใตัอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล โดยปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล หรือ UNCLOS 1982 ซึ่งมีเป็นหลักกฎหมายสำคัญ และครอบคลุมไปถึงการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ตามหลักการกำหนดไว้ด้วยว่า การใช้กำลังเป็นเรื่องต้องห้าม นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเรื่องเขตแดนทางทะเลอย่างละเอียด โดยให้สิทธิรัฐชายฝั่งกำหนดอาณาเขต คือ เขตน่านน้ำภายใน , ทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทางทะเลจากเส้นฐาน หรือแนวน้ำลงต่ำสุด โดยรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยทุกเรื่อง 100% แต่ก็ให้สิทธิเรือชาติอื่นผ่านโดยสุจริต

วงเสวนา ทร. เลี่ยงแจงปม \"MOU 44\" เจรจาเขตแดน-ผลประโยชน์ทางทะเล ไทย-กัมพูชา

หลังจากนั้นจะเป็นเขตต่อเนื่องทางทะเล 24 ไมล์ทะเล , เขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ EEZ และเขตไหล่ทวีป 200 ไมล์ทะเล ต่อจากนั้นจะเป็นทะเลหลวง แต่การกำหนดอาณาเขตทางทะเลเหล่านี้ มักจะมีปัญหาที่ตามมาคือรัฐชายฝั่งประกาศอาณาเขตที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ซึ่งตามอนุสัญญาฯ กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์สันติวิธี คือเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันไม่ได้ก็ต้องใช้บุคคลที่สามเป็นตัวกลาง เช่น ศาลโลก, อนุญาโตตุลาการ แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นกับรัฐที่เกิดข้อพิพาท และหาทางออกร่วมกัน 

ทั้งนี้ อนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว แต่ในอนาคตน่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการเทคนิค ตามยุคสมัย บนหลักการความเที่ยงธรรม และกรณีประเทศที่ไม่อยู่ในภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 เช่น กัมพูชา ก็มีหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ 

"ใครจะเป็นภาคีอนุสัญญากฎหมายทะเลหรือไม่ก็ตาม ทุกประเทศยังคงมีแนวทาง หรือมีหลักเกณฑ์ ข้อผูกพันพันธกรณีด้วยเช่นกัน เพราะบางส่วนของอนุสัญญา 1982 ถูกรวบรวมจากหลายจารีตประเพณี" นาวาเอกหญิง มธุศร กล่าว

วงเสวนา ทร. เลี่ยงแจงปม \"MOU 44\" เจรจาเขตแดน-ผลประโยชน์ทางทะเล ไทย-กัมพูชา

ขณะที่ "นาวาเอก เกียรติยุทธ" กล่าวว่า กองทัพเรือ ยึดแผนที่แสดงอำนาจอธิปไตย และสิทธิอธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งต้องคุ้มครอง และดูแลพื้นที่ที่อ้างสิทธิอย่างเต็มที่ ปัจจุบันได้ดำเนินการอยู่ ส่วนอีกเส้นที่มีการอ้างสิทธิ ก็เป็นเรื่องของคณะทำงานของรัฐดำเนินการ เพราะฉะนั้นขอย้ำว่า กองทัพเรือ กองทัพบก และกองทัพอากาศ ยึดแผนที่นี้เป็นหลัก 

สำหรับบรรยากาศในช่วงท้ายที่เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวถามคำถาม เป็นไปอย่างดุเดือด ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงจุดยืนและหลักการของกองทัพเรือ ในการแบ่งประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา ควรให้ได้ข้อยุติในการปักกันเขตแดนก่อนนำไปสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ หรือทำสองอย่างคู่ขนานกันไป และกองทัพเรือใช้หลักการอะไรให้ได้ข้อยุติในการปักปันเขตแดน 

"นาวาเอก รชต" ตอบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคณะกรรมการเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางชายแดนทั้งทางบกและทางทะเล โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมีผู้แทนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กองทัพเรือมีหน้าที่สนับสนุน ผู้เชี่ยวชาญต่างๆในด้านความมั่นคง แก่คณะกรรมการดังกล่าว

ขณะที่ "นาวาเอก สมาน" กล่าวเสริมว่า เรื่องดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนในครั้งที่เราลงนาม MOU 44 ในสภาวะแวดล้อมปัจจัยอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ปัจจุบันผ่านมากว่า 20 ปี สภาวะแวดล้อมปัจจัยที่จะหาข้อยุติ ก็จะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และเรามีอะไรบางอย่างที่อยู่ในใจ ทำให้สภาวะแวดล้อมต่างๆเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในอีก 10-20 ปี ข้างหน้าสภาวะแวดล้อมก็ต้องเปลี่ยนไปอีก ในการพิจารณาก็ต้องเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเช่นกัน

เมื่อถามย้ำว่า จุดยืนของกองทัพเรือเห็นชอบตามที่คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค  หรือ JTC หากการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อน ทำคู่ขนานไปกับการปักปันเขตแดนใช่หรือไม่ "นาวาเอก สมาน"  กล่าวว่า “ในเวทีตรงนี้ขออนุญาต เราไม่สามารถที่จะตอบในระดับของผู้บริหารกองทัพได้ ผมตอบไม่ได้”

เมื่อถามย้ำว่า พวกท่านนั่งอยู่ข้างบน คือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องเขตแดน และเรื่องอธิปไตย เหตุใดถึงตอบไม่ได้ "นาวาเอก สมาน"  กล่าวว่า “ผมตอบได้ แล้วสื่อต้องการแบบไหน”  ผู้สื่อข่าวจึงยบอกว่า ก็เป็นหลักการที่กองทัพเรือยึดถือ มีความถูกต้อง และเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะทุกท่านได้ศึกษาและเรียนมา 

วงเสวนา ทร. เลี่ยงแจงปม \"MOU 44\" เจรจาเขตแดน-ผลประโยชน์ทางทะเล ไทย-กัมพูชา

ระหว่างนี้ วงเสวนาได้นิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนมีการปรึกษาหารือกัน แล้วย้อนกลับมาถามผู้สื่อข่าว โดยขอฟังคำถามใหม่อีกรอบ ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า การแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อน ควรทำคู่ขนานไปกับการปักปันเขตแดน หรือทำ 2 อย่างอย่างพร้อมกัน / "นาวาเอก เกียรติยุทธ"  กล่าวว่า ตามที่ยืนยันมาแต่แรก ในส่วนของกองทัพเรือ ถ้าในแง่ทางเทคนิค ทั้งแบ่งก่อนหรือแบ่งหลัง เป็นส่วนที่เกินอำนาจของกองทัพเรือ เราทำได้แค่สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหลายฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะกองทัพเรืออย่างเดียว จึงไม่สามารถบอกได้ว่าคำตอบจะออกมาแบบใด ต้องให้เป็นเวทีระดับชาติ แต่ในส่วนบทบาทกองทัพเรือ แผนที่เราต้องการเพียงเส้นเดียวคือเส้นตรงนั้น เราไม่เห็นเส้นอื่น ตรงนี้ยืนยันได้ว่า เรายังปกป้องเส้นตรงอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีอะไรเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาล หรือระดับอื่นๆที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา กองทัพเรือยึดเส้นตรงอย่างเคร่งครัด หาก

เมื่อถามย้ำว่า หากมีนโยบายปฏิบัติที่ชัดเจนแล้วกองทัพเรือก็พร้อมปฏิบัติตามใช่หรือไม่ "นาวาเอก เกียรติยุทธ"  กล่าวว่า หากนโยบายนั้นเป็นไปตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายของปวงชนชาวไทย แน่นอนว่ากองทัพเรือต้องทำหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายเพราะรัฐบาลมาจากประชาชน และกองทัพก็ถือว่ารัฐบาลคือเสียงของประชาชน

ขณะที่ "นาวาเอก สมาน"  ย้ำว่า เราต้องยึดหลักกฎหมายทะเล ทั้งนี้ความเที่ยงธรรมเป็นนามธรรม สิ่งที่กองทัพเรือ โดยกรมอุทกศาสตร์ ยืนยันจะทำให้ดีที่สุด คือทำความเที่ยงธรรมที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่าย บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ความเที่ยงธรรมของตนอาจไม่ใช่ความเที่ยงธรรมของอีกคนก็ได้ จึงต้องหาจุดร่วมกันให้ได้เราจะพิสูจน์ในสิ่งที่เราทำให้เขายอมรับได้อย่างไร แต่ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสิ่งที่เขาทำมันเที่ยงทำอย่างไร

 

"คำนูญ" ร่วมฟังเสวนา ทร. เข้าใจไม่แสดงท่าทีปมแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา


"นายคำนูณ สิทธิสมาน" อดีตสมสมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมรับฟังการเสวนา "หลักกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล" จากกองทัพเรือ ว่า เป็นข้อมูล เป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์มาก จำเป็นที่ประชาชนต้องรับรู้ ซึ่งจากการรับฟังเข้าใจว่าท่าทีของกองทัพ ไม่สามารถแสดงออกอย่างชัดเจนเฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งได้อย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะฉะนั้นในวงเสวนา จึงเป็นเรื่องของภาพรวมเรื่องอาณาเขตทางทะเล แต่ส่วนตัวถือว่าได้รับความรู้ และยืนยันหลักคิดสมมติฐาน ที่เคยมีมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

เมื่อถามว่า กัมพูชา ไม่เข้าร่วมกฎหมายทางทะเล (อันคลอซ 1982) การเจรจาตาม "MOU 44" จะเดินไปอย่างไร นายคำนูณ กล่าวว่า มีอนุสัญญากรุงเจนีวา 1958 ที่ว่าด้วยทะเลอาณาเขตต่อเนื่อง ซึ่งบังคับใช้ในขณะกัมพูชาประกาศกฤษฎีกาในปี 1972 และไทยประกาศพระบรมราชโองการ ปี 1973  ปัจจุบันนี้ แม้จะมีกฎหมายทะเล 1982 แต่อนุสัญญาว่าด้วยอาณาเขตและไหล่ทวีป ก็ยังคงบังคับใช้อยู่ ต้องยึดหลักการตามนั้น ซึ่งตนคิดว่ามีความชัดเจนอยู่

"วันนี้ข้อมูลที่ได้รับ โดยเฉพาะการแสดงจุดยืนของกองทัพเรือ แม้จะเป็นนามธรรม แต่ก็ชัดเจน ที่บอกว่าการประกาศสิทธิ การประกาศอาณาเขต ก็เป็นสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ ของแต่ละประเทศ เห็นได้จากการนำแผนที่ขึ้นมาแสดงให้ดู และกองทัพเรือก็ยืนยันว่าเป็นสิทธิของรัฐ ในการประกาศอาณาเขตทางทะเล"

"นายคำนูญ" ยังมองว่า กองทัพเรือ ได้ยืนยันและแสดงสิทธิตามนั้นมาโดยตลอด และเชื่อว่าทุกกองทัพก็ยืนยันตามนั้น ส่วนเรื่องการสร้างความสมดุล ความคิดเห็นของประชาชน นโยบายรัฐ และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นให้ได้ เมื่อได้ผลสรุปอย่างไร กองทัพเรือพร้อมปฏิบัติตามนั้น ตนมองว่าเป็นจุดยืนของกองทัพเรือ ที่ชัดเจนดี