3 ธันวาคม 2567 "นายจิรายุ ห่วงทรัพย์" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐสนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 4 – 22 พฤศจิกายน 2567 ดังนี้
1. การสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2568 (ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล) เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ความพึงพอใจ และ ความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาล ใช้แผนการเลือกตัวอย่างแบบ Stratified Two-Stage Sampling เก็บรวบรวมข้อมูล โดยส่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไปสัมภาษณ์ประชาชนตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 31,500 ราย สรุปผลประชาชนตัวอย่าง ดังนี้
โดยประชาชนมีความพึงพอใจในภาพรวมต่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการในระดับมาก – มากที่สุด ร้อยละ 87.7 (มากร้อยละ 47.8 และมากที่สุดร้อยละ39.9) ร้อยละ 47.8 ระบุว่ามีความพึงพอใจฯ ในระดับมาก ร้อยละ 11.2 ระบุว่ามีความพึงพอใจฯในระดับปานกลาง ร้อยละ 0.9 ระบุว่ามีความพึงพอใจฯ ในระดับน้อย และร้อยละ 0.2 ระบุว่ามีความพึงพอใจฯ ในระดับน้อยที่สุด
โดยความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 เก็บรวบรวมข้อมูลประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ได้รับสิทธิในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 31,500 ราย (ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 26,469 ราย และคนพิการจำนวน 5,031 ราย) สรุปผลประชาชนตัวอย่าง ดังนี้
ประชาชนร้อยละ 75.8 ระบุว่านำเงินไปใช้จ่าย ขณะที่ร้อยละ 12.8 ระบุว่านำไปชำระหนี้สินและร้อยละ 11.4 ระบุว่าเก็บออมไว้ สำหรับประชาชนที่นำเงินไปใช้จ่าย ร้อยละ 95.1 ระบุว่านำเงินไปซื้ออาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวสาร หมูสด เป็นต้น ในสัดส่วนที่สูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ซื้อของใช้ในครัวเรือน เช่น ผงซักฟอก สบู่ เป็นต้น (ร้อยละ 89.1) ชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เป็นต้น (ร้อยละ 57.2)ชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน แก๊ส เป็นต้น (ร้อยละ 26.7 ) และให้คนในครอบครัวหรือญาติไว้สำหรับใช้จ่าย (ร้อยละ 26.3)
สำหรับสถานที่ที่ประชาชนที่นำเงินไปใช้จ่าย ร้อยละ 96.3 ระบุว่านำเงินไปใช้จ่ายที่ร้านค้าในชุมชน/ร้านขาย ของชำในสัดส่วนที่สูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ หาบเร่ แผงลอยทั่วไป/ในตลาด (ร้อยละ 70.9) ร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ททั่วไป เช่น 7-Eleven Mini Big C เป็นต้น (ร้อยละ 54.1) ดิสเคาท์สโตร์/ซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Big C Tesco Lotus Tops เป็นต้น (ร้อยละ 18.4)
ประชาชน ร้อยละ 21.1 ระบุระยะเวลาที่ใช้เงิน 10,000 บาทน้อยกว่า 1 เดือน ส่วนร้อยละ 60.5 ใช้เงิน 1- 3 เดือน ร้อยละ 13.7 ใช้ 4 – 6 เดือน และร้อยละ 4.7 ใช้มากกว่า 6 เดือน
ด้าน "นางสาวแพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จ่าย 10,000 บาท ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เข้าที่ประชุม ครม.เนื่องจากติดข้อกฎหมายว่า เรื่องนี้ขอพิจารณา และศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายเพื่อความรอบคอบ ซึ่งไม่ได้ติดเรื่องอะไร แต่เรื่องเนื้อความทางกระทรวงการคลังกำลังดูอยู่