svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กมธ.พลังงาน" เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ข้อมูลพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

กมธ.พลังงาน เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ข้อมูลพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา และแบ่งผลประโยชน์ ค้านเลิกสัมปทานเอกชน หวั่นต้องเอาภาษีมาชดเชย หนุนเดินหน้าตั้ง คกก.JTC คุยต่อ แนะเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ร่วมด้วย

นายศุภโชติ ไชยสัจ รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังประชุมกรรมาธิการ ว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมสนธิสัญญา กระทรวงต่างประเทศ , กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน , กองทัพเรือ และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มาให้ข้อมูลล่าสุดในพื้นที่พัฒนาร่วม

ซึ่ง กรมสนธิสัญญา ยืนยันว่า ใช้กรอบของ MOU 44 เป็นกรอบหลักในการเจรจา โดย กมธ.ได้นำคำถามจากภาคประชาสังคมมาสอบถาม ได้ข้อมูล 2 ส่วนว่า ในพื้นที่ส่วนบนต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ทับซ้อน ก็ต้องมีการเจรจากันไป พร้อมกับแบ่งทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ส่วนล่าง โดยตามกรอบ MOU ต่างฝ่ายต่างรับรู้พื้นที่ของแต่ละฝ่าย และไทยค่อนข้างมั่นใจข้อมูลที่จะไปเจรจากับกัมพูชา โดยยึดหลักอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล หรือ อันโคลซ 

ส่วนเรื่องสัมปทานที่ให้สิทธิกับเอกชนไปแล้ว ก็ต้องพูดคุยกันต่อว่าจะเดินหน้าอย่างไร แต่สิ่งที่ กมธ. ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการยกเลิกสัมปทาน แล้วเราต้องมาจ่ายค่าชดเชยให้ โดยใช้ภาษีของประชาชน 

\"กมธ.พลังงาน\" เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ข้อมูลพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

"นายศุภโชติ" ยังกล่าวถึงระยะเวลาในการนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงว่าถ้าดูจากกรอบที่เราเคยทำกับมาเลเซียจะต้องใช้เวลาถึง 25 ปี จึงมีคำถามว่า ทรัพยากรเหล่านี้ยังจำเป็นหรือไม่ เพราะขณะนี้เรากำลังเดินไปสู่พลังงานสะอาด จึงได้พูดคุยกันว่าถ้าจะทำให้เร็วกว่านี้ทำอย่างไรได้บ้าง

เมื่อถามย้ำว่า กมธ. เห็นด้วยกับการเดินหน้าตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค  หรือ JTC ไทย-กัมพูชา หรือไม่ นายศุภโชติ กล่าวว่า แน่นองต้องมีอยู่แล้ว เพราะเป็นเหมือนบันไดขั้นแรก ที่ทำให้การเจรจาเกิดขึ้นได้ และทางเราก็อยากเห็นว่าองค์ประกอบเป็นอย่างไร โดยการเข้าไปเจรจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องมีผู้แทน ซึ่งในส่วนของไทยมีการพูดคุยกันว่าไม่ใช่แค่เรื่องเขตแดนแต่มีเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ดังนั้นองค์ประกอบของ JTC จึงเป็นประเด็นสำคัญว่าประกอบด้วยใครบ้าง ที่จะต้องคุยทั้งเรื่องเขตแดน อาณาเขตประเทศ รวมทั้งทรัพยากร ซึ่งที่ผ่านมาองค์ประกอบของ JTC มีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานค่อนข้างน้อย จึงขอฝากข้อเสนอแนะว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเพิ่มไปด้วย พร้อมย้ำว่าคณะกรรมการ JTC จะต้องครอบคลุมโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง

 

ส่วนกังวลหรือไม่ที่อาจจะมีการตั้งคนจากฝ่ายการเมืองเข้าไปด้วย "นายศุภโชติ" กล่าวว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความพยายามจากฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงในคณะกรรมการ JTC แต่อยากให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และให้การทำงานในเรื่องนี้เป็นกลางจริงๆ แต่เรื่องนี้จะชัดเจนที่สุดก็ต่อเมื่อได้เห็นรายชื่อคณะกรรมการ JTC ออกมาก่อน แล้วค่อยมาตั้งคำถาม

เมื่อถามว่า รัฐมนตรีพลังงาน ควรอยู่ในคณะกรรมการ JTC ด้วยหรือไม่ "นายศุภโชติ "กล่าวว่า ถ้าเทียบกับในอดีต ก็ควรจะต้องเป็นบุคคลที่ดูเรื่องเขตแดน เรื่องทรัพยากร ต้องร่วมอยู่ในโต๊ะเจรจาด้วย

\"กมธ.พลังงาน\" เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ข้อมูลพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิก MOU 44 นั้น ใน กมธ. พูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย เพราะการมี MOU 44 ถือเป็นกรอบที่ชัดในการเจรจา ส่วนจะต้องมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่ เราต้องศึกษากันว่าบริบทนี้ผ่านมา 20 ปีแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ จึงเห็นว่าต้องมีการทบทวน แต่ถึงขั้นต้องยกเลิกหรือไม่ยังไม่สามารถสรุปได้

เมื่อถามว่า ถ้าคุยเรื่องเส้นเขตแดนแล้วไปไม่ได้ จะคุยเรื่องผลประโยชน์ต่อหรือไม่ นายศุภโชติ กล่าวว่า รอให้ถึงจุดนั้นก่อน แล้วค่อยว่ากัน ตอนนี้เราควรย้ำ. ยืนว่าควรเข้าสู่โต๊ะเจรจา โดยนำ 2 เรื่องคือ ผลประโยชน์ และเขตแดน มาคุยพร้อมกัน

เมื่อถามย้ำว่าได้เห็นแผนที่แนบท้าย MOU 44 หรือไม่ นายศุภโชคกล่าวว่ากรมสนธิสัญญาได้มาชี้แจงว่า แผนที่แนบท้ายเป็นแค่การรับรู้เส้นที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างอิง ซึ่งเป็นคนละเส้นกัน และไม่ได้มีบทบังคับใช้ตามกฎหมาย