21 พฤศจิกายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา "นายปิยรัฐ จงเทพ" สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมกมธ.ความมั่นคงฯ เรื่อง MOU 44 ว่า ที่ประชุมมีการหารือเรื่องความเข้าใจในการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือความตกลงตามกรอบ MOU 44 ระหว่างไทย-กัมพูชา
วันนี้เราถามเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน การแบ่งสรรผลประโยชน์ปิโตรเลียมภายใต้พื้นที่ทะเลที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อนกัน โดยเชิญรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมเชื้อเพลิงพลังงานธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นต้น มาชี้แจงต่อกมธ.ฯ
เราถามว่า ปัจจุบันการทำงานร่วมของคณะทำงานร่วมด้านเทคนิค หรือ"JTC" ได้มีการเริ่มต้นดำเนินการไปมากน้อยแค่ไหน มี"คณะทำงาน JTC" แล้วหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ยังได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง"คณะทำงานJTC" ด้วยหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าใช่ อยู่ที่มติครม. จึงเป็นผลกระทบทำให้การเจรจาไม่มีความคืบหน้า
นายปิยรัฐ กล่าวต่อว่า เรามีการเจรจา"คณะทำงานJTC" ไปเพียง 2 ครั้ง คือปี 2544 และ 45 จากนั้นมาเราไม่เคยเจรจาอีกเลย ทุกครั้งที่คุยกันเป็นการคุยนอกรอบ ไม่เป็นทางการมากกว่า ดังนั้น ปัจจุบัน"คณะทำงานJTC" ในรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตรยังไม่มี ยังไม่ทราบหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ที่ทราบคือรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงจะนั่งเป็นประธาน
ส่วนข้อกังวลในเรื่องการเจรจาไปด้วย คุยเรื่องผลประโยชน์ไปด้วย แล้วจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่แบ่งปันเขตแดนนั้น ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานรัฐว่า ไม่ส่งผลกระทบ ขอให้ประชาชนเข้าใจได้ ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้สูญเสียพื้นที่ให้ประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด วันนี้ยังไม่ได้มีการหารือถึงเรื่องแบ่งปันแนวเขตแดน โดยเฉพาะบนเกาะกูด จ.ตราด ยังอยู่ที่เดิม ไม่ได้เสียหายไปไหน เพียงแต่กำลังศึกษาว่า "MOU44" เรามีส่วนได้เสียมากน้อยแค่ไหน