svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ผบ.ทร." พร้องส่ง “กรมอุทกศาสตร์-พระธรรมนูญ” ร่วมวง JTC เจรจากัมพูชา (คลิป)

ผบ.ทร. พร้องส่ง “กรมอุทกศาสตร์-พระธรรมนูญ” ร่วมวง JTC เจรจากัมพูชา ปมพื้นที่อ้างสิทธิทางทะเล ชี้ต้องอาศัยนักเทคนิคควบคู่นักกฎหมาย เตรียมเปิดวงเสวนาชี้แจงสังคม 3 ธ.ค. นี้ ไม่หวั่นกระแสคนนอกครอบงำ ย้ำยึดกฎหมาย-อนุสัญญาระหว่างประเทศ (มีคลิป)

20 พฤศจิกายน 2567 "พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์" ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังทำพิธีวันสถาปนากองทัพเรือ ครบรอบ 118 ปี ถึงกรณีอดีต ผบ.ทร. ได้ฝากถึงประเด็น "MOU 44" กับกระแสสังคมอย่างไรบ้าง ว่า เคารพความคิดของทุกท่าน เพราะทุกคนล้วนมีความเป็นห่วงกองทัพเรือ ไม่ว่าจะเกษียณไปนานเท่าไหร่แล้วก็ตาม เพราะอดีตผู้บังคับบัญชาก็อยากให้กองทัพเรือเดินหน้าไปได้ และมีความต่อเนื่องในการพัฒนาทุกด้าน

พร้อมย้ำว่า กองทัพเรือมีหน้าที่ดูแลพื้นที่ และปัจจุบันก็ดูแลเส้นเขตแดนทางทะเลที่ประเทศไทยประกาศ ซึ่งดูแลได้อย่างเรียบร้อย ไม่มีความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย

"แต่เมื่อมีกระแสสังคมถึง MOU 44 กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานทางเทคนิค ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนทางทะเล คือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เตรียมจัดงานเสวนาในเรื่องนี้ ในเรื่องเส้นเขตแดนในทะเล และข้อตกลง-ข้อขัดแย้งต่างๆ วันที่ 3 ธ.ค. นี้ ที่เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ารับฟังได้ อีกทั้งแบ่งวงเสวนาให้ความรู้เรื่องการเจรจาข้อตกลงต่างๆ อีกด้วย เพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ว่าการเจรจาตกลงมีรูปแบบใดบ้าง รวมถึงกระบวนการเข้าสู่ศาลโลกที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทางทะเล เพื่อให้สังคมได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่หลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ"

ส่วนความคืบหน้าในการตั้ง "คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค" (JTC) ที่ "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ระบุจะต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุม อย่างกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ร่วมด้วยนั้น ผบ.ทร. กล่าวย้ำว่า ถ้า "นายภูมิธรรม" ร้องขอมาก็ยินดีสนับสนุน เพราะเรื่องเขตแดนทางทะเล กองทัพเรือก็ต้องศึกษาให้ถ่องแท้เช่นกัน ตามที่จะมีการจัดเสวนาดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์ จะมีความรู้ในเรื่องทางเทคนิค แต่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายก็จะเป็นสำนักพระธรรมนูญ อยู่ที่จะมีการเลือกเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคแบบใด เข้าไปร่วม "JTC" 

 

เมื่อถามว่ามีความเป็นห่วง ความเป็นอิสระของ"คณะกรรมการ JTC" ที่จะไม่ถูกครอบงำจากบุคคลใดหรือไม่ "ผบ.ทร." กล่าวว่า อยู่ที่การอธิบาย หรือความต้องการในกระบวนการทำงาน ในเรื่องทางกฎหมายและเทคนิค เพราะในบางส่วนอาจไม่เชี่ยวชาญเรื่องทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็จะมีช่องให้เดิน ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบมาตราใดมาใช้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องเหล่านี้ได้ กรณีที่มีการเจรจาเกิดขึ้นจะต้องใช้กฎข้อใด หรือต้องอ้างอนุสัญญาใด

ชมคลิป>>> 


 

"มาริษ" เผย ยังอยู่ระหว่างพิจารณาบุคคลเป็นคณะกรรมการ JTC


ขณะที่ "นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์"  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการ ด้านเทคนิคฝ่ายไทยหรือ JTC ว่า กำลังรอพิจารณา อาจมีเพิ่มบุคคลบ้าง ยังไม่เรียบร้อย ส่วนจะมีความชัดเจนจะส่งเข้า ครม. เมื่อใด "นายมาริษ" บอกว่า จะทำให้เร็วที่สุด

"นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์"  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ