นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุมผู้นำ ในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat) โดยมีนางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Ms. Dina Ercilia Boluarte Zegarra) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเปรูเป็นประธาน ก่อนพิธีปิดการประชุม APEC ครั้งที่ 31 อย่างเป็นทางการ
โดยระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพ และความมั่งคั่งร่วมกัน เชื่อว่า APEC เป็นเวทีที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอย่างมากระหว่างสมาชิกด้วยกัน และมั่นใจว่า ด้วยการทำงานร่วมกันของสมาชิก จะสามารถสร้างเวทีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และมีปัจจัยใหม่ ๆ ในการส่งเสริมการค้า และการลงทุน ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกประเทศ โดยมีประชาชน และโลกเป็นศูนย์กลาง ที่จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีได้ กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างความร่วมมือ และก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ร่วมกันของประเทศสมาชิก APEC ว่า จะต้อง “สร้างโอกาสสำหรับทุกคน หรือ Opportunities For All ทำงานร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บริหารจัดการกับเศรษฐกิจในระบบ ที่สมาชิกสามารถตกลงร่วมกันได้ สร้างให้กลุ่มเปราะบางของให้มีโอกาศทัดเทียมกันในการดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายในการขจัดความยากจน
"การสร้างความร่วมมือ" APEC ควรเพิ่มความเชื่อมโยงทางกายภาพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในภูมิภาค เพราะนอกจากจะส่งเสริมการค้า และการลงทุนระหว่างกันแล้ว ยังสามารถส่งเสริมการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนด้วยกันได้โดยง่าย โดยเฉพาะกลุ่ม “Digital Nomad” หรือกลุ่มคนที่มีธุรกิจค้าขายผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ APEC ควรจัดทำสิทธิพิเศษเป็นบัตรเดินทาง สำหรับนักธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Travel Card (ABTC) ในประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทางค้าขายระหว่างกันมากขึ้นอีกด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่า APEC จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวตามเป้าหมายที่เคยประชุมร่วมกันที่กรุงเทพหรือ “BCG” ซึ่งประเทศไทย ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน โดยวางแผนการเพิ่มพลังงานสะอาด 20 กิกะวัตต์ ภายใน 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065
นายกรัฐมนตรี ยังขอให้ APEC เป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญในการเปลี่ยน ไปสู่ BCG รวมทั้งสนับสนุนให้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดและการค้าเครดิตคาร์บอนร่วมกัน ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่า APEC สามารถเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันได้
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่า ประเทศไทยมีแนวคิด ส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการค้า ดังนั้น การเตรียมพร้อมสำหรับ FTAAP จะเสริมสร้างขีดความสามารถในประเทศสมาชิกได้ โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และประเทศไทย เชื่อว่า การสร้างสิ่งใหม่ ๆ และพัฒนาในโลกการเงินที่เรียกว่า "สร้างสถาปัตยกรรมทางการเงิน" ที่สมดุล และยืดหยุ่นมากขึ้น จะช่วยให้เศรษฐกิจได้รับการปกป้อง มีเสถียรภาพ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุม ยังได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่
- ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Declaration)
- ถ้อยแถลงอิชมาว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Ichma Statement on a New Look to advance the Free Trade Area of the Asia-Pacific)
- แผนงานลิมา เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของเอเปค (Lima Roadmap to Promote the Transition to the Formal and Global Economy)
อย่างไรก็ตามถือว่า เป็นการเสร็จสิ้นการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ จะออกเดินทางกลับประเทศไทยในเย็นวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 18.00 น.ตามเวลาเปรู และจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 ชั่วโมง ถึงท่าอากาศยานทหารอากาศดอนเมือง ในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 11.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย