ก.เกษตรฯ เตรียมชง 2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก
เอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง)
นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (12 พ.ย.) ว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 เพื่อช่วยชาวนา ผ่าน 2 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 59,500.01 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 50,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 9,019.01 ล้านบาท โดย
- โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 3,000,000 ตัน วงเงินงบประมาณรวม 43,843.76 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินสินเชื่อ 35,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 8,362.76 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อตามโครงการให้เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร จำนวน 3,000,000 ตันข้าวเปลือก โดยกำหนดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ และวงเงินสินเชื่อต่อตัน ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,500 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าฝากเก็บ และรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองจะได้รับเต็มจำนวน สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการฯ ได้รับในอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 เป้าหมาย 1,500,000 ตัน วงเงินงบประมาณรวม 15,656.25 ล้านบาท แยกเป็น วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 656.25 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย หรือเพื่อการแปรรูป โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3.5 ต่อปี
นายเอกภาพ ยืนยันว่า จะพิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามระเบียบให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรสูงสุด และเร่งรัดการดำเนินการขั้นตอน ระเบียบ และกฎหมายต่อไป ส่วนโครงการช่วยเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท และโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งนางนฤมล ยืนยันว่า จะผลักดันเพื่อช่วยเกษตรกรเต็มที่ ทั้งสอง 2 โครงการ และขอให้รอลุ้นข่าวดี ที่อาจเสนอใช้วิธีผสมผสาน ไร่ละ 1,000 และปุ๋ยคนละครึ่ง เร็ว ๆ นี้