26 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "คณะกรรมการกฤษฏีกา" ได้พิจารณาคุณสมบัติความเป็น "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ของ "นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง" เมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งเป็น "ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี" (ช่วงที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกฯ) โดยมีความเห็นว่า ขัดคุณสมบัติ ในการเป็น "ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย" (ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ)
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุไว้ดังนี้
เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีการเป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 1008/168804 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่ประธานกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอชื่อนาย ก. ให้เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป นั้น
กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้ว เห็นว่า โดยที่มาตรา 18 (4) ประกอบกับมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 บัญญัติลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี โดยไม่มีการกำหนดนิยามคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ไว้
กรณีจึงมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" มีความหมายครอบคลุมตำแหน่งใดที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า นาย ก. เคยดำรงตำแหน่ง (1) ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566 และ (2) ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 316/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 และได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน รอบคอบและไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฯ จึงขอหารือว่าตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เข้าข่ายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน่งทางการเมืองหรือไม่
โดยที่ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ สมควรพิจารมาด้วยความรอบคอบ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการประชุมของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 จัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13) เพื่อประชุมหารือร่วมกันเป็นพิเศษ
คณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ มีมติด้วยเสียงข้างมากเห็นว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เนื่องจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่นายกิตติรัตน์ ได้รับการแต่งตั้งในสมัยรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากมีส่วนไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย
จากการตรวจสอบบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการชี้แจงของผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ก่อนการได้รับการเสนอชื่อให้เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นาย ก. เคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ของพรรคการเมือง พ. และภายหลังจากที่ลาออกจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นาย ก. ยังคงปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง พ. โดยการเยี่ยมชมภาคการเกษตรและโคนมในนามพรรคการเมือง พ. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566
และภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566 แล้ว นาย ก. ยังคงมีการปฏิบัติภารกิจและลงพื้นที่โดยสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง พ. อยู่ เช่น การลงพื้นที่เพื่อติดตามภารกิจข้าวรักษ์โลก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นาย ก. มิได้มีหน้าที่และอำนาจเฉพาะแต่การให้คำปรึกษาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในลักษณะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญด้วย
ดังเช่น การที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและแต่งตั้งให้นาย ก. ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 316/2566 ซึ่งนโยบายการแก้ไขหนี้สินของประชาชนเป็นนโยบายที่พรรคการเมือง พ. ใช้ในการหาเสียง ตลอดจนเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงต่อรัฐสภาด้วย
ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยจึงถือได้ว่าเป็น "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" เพราะได้รับการแต่งตั้งมาโดยเหตุผลและความสัมพันธ์ทางการเมืองและมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองและของรัฐบาล
อ่านบันทึกคณะกรรมการกฤษฏีกาฉบับเต็ม >>>