นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ สส.ชัยภูมิ พรรคกล้าธรรม ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มาตอบกระทู้ ถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทางเลือกที่ 1 สายสีม่วง ผ่านจังหวัดชัยภูมิ ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการจัดทำแผนการศึกษาวิจัยด้วยงบประมาณกว่า 34 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างทางรถไฟสายสีม่วง เริ่มต้นจากสถานีรถไฟจัตุรัส อำเภอจัตุรัส ผ่านอำเภอบ้านเขว้า และเมือง เข้าสู่อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิก่อน เข้าสู่จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดเลย รวมทั้งสิ้น 30 สถานี และเคยเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
นายอัครแสนคีรี ย้ำว่า ถ้ามีรถไฟเส้นนี้ หากมีโอกาสตนก็จะขอนั่งรถไฟ มาถามกระทู้ในสภาฯในรอบหน้า เพราะการนั่งรถไฟนอกจากสะดวกสบายแล้ว ยังไม่ตกหลุมอากาศ เหมือนเครื่องบิน ดังนั้น จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเจริญ สร้างงานสร้างอาชีพ ส่งผลให้ที่ดินที่อยู่ในบริเวณสถานีรถไฟตั้งมีราคาสูงขึ้น ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า กระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรองอย่างเช่นจังหวัดชัยภูมิเรามีสถานที่ท่องเที่ยวมาก แต่มีข้อจำกัดเรื่องของการเข้าถึงมีแค่ทางหลวงสายหลัก ดังนั้นการท่องเที่ยวยังไม่สามารถดึงศักยภาพออกมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ขอถามถึงโครงการดังกล่าว ที่ได้ทำการศึกษาพัฒนาโดยรัฐบาลในอดีตเมื่อปี 2558 แต่ถูกพับไปจากรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ สูญเสียโอกาสเป็นอย่างมาก ดังนั้น กระทรวงคมนาคม จะมีการทบทวนโครงการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่เส้นทางนี้อยู่หรือไม่ อย่างไร และกระบวนการอนุมัติเส้นทางดังกล่าว ไปจนถึงการก่อสร้างมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร” นายอัครแสนคีรี ตั้งกระทู้ถาม
ขณะที่ นางมนพร ชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง ได้เดินหน้าทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ ดัน R-MAP หนุนเส้นทางครอบคลุม เชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ จากที่ สส.อัครแสนคีรี สอบถามมานั้น รายละเอียดของสายทางแรกก็คือ ช่วงของจัตุรัส-ชัยภูมิ - หนองบัวลำภู ระยะทาง 230 กิโลเมตร บรรจุอยู่ในแผนกลุ่มโครงการที่สมควรที่จะได้รับการพิจารณาในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงมีแผนที่จะของบประมาณประจำปี 2569 สำหรับแผนการดังกล่าวอยู่ในช่วงของการจ้างออกแบบ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อมาอีกสายหนึ่งก็คือ ช่วงหนองบัวลำภู-เลย ระยะทางประมาณ 103 กิโลเมตร บรรจุอยู่ในแผนงานกลุ่มโครงการที่สมควรได้รับการพัฒนา ก็คือ เป็นเส้นทางที่มียุทธศาสตร์เรื่องส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการเดินทางไปสู่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งอยู่ในแผนการที่ศึกษาเรื่องของความเหมาะสมของโครงการในปี 2580
นางมนพร ระบุว่า จากผลการศึกษาของทั้ง 2 โครงการ เห็นว่า ไม่ควรจะมีแค่สองเส้นทาง จึงได้เพิ่มอีกหนึ่งเส้นทาง ก็คือทางรถไฟสาย อุดรธานี - หนองบัวลำภู เส้นทางนี้มีระยะทาง 53 กิโลเมตร บรรจุอยู่ในแผนโครงการที่ที่จะต้องได้รับการพิจารณาในพื้นที่ โดยเส้นทางดังกล่าวมีแผนการการศึกษาความเหมาะสมอยู่ที่ปี พ.ศ. 2574 โดยการศึกษาความเหมาะสมทั้ง 3 สายทางนี้ จะเป็นรถไฟรางคู่ขนาดราง 1 เมตร เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงการเดินทางคมนาคมขนส่งในภูมิภาคในจังหวัดที่เส้นทางรถไฟผ่านบริเวณที่จุดที่ขนถ่ายสินค้า หรือ Container Yard : CY ทั้งหมดหกแห่ง ซึ่ง CY จุดแรกก็คือที่ ชัยภูมิ
ส่วนโครงการทั้งหมดจะมีการก่อสร้างเมื่อใด และมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไรนั้น นางมนพร กล่าวว่า ช่วงจตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู จะมีช่วงออกแบบรายละเอียดโครงการ และขออนุมัติโครงการ รวมถึงการประกวดราคาก่อสร้าง ประมาณปี 2572 และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2573 โครงการต่อมาก็คือโครงการในช่วงของหนองบัวลำภู- เลย จะดำเนินการก่อสร้างได้ช่วงปี 2584-2585 ในช่วงของอุดรธานี-หนองบัวลำภู คาดว่าดำเนินการก่อสร้างช่วงปี 2579 ทางการรถไฟได้มีการวางไทม์ไลน์และเร่งที่จะทำให้เกิดโครงการดังกล่าว เพราะทางกระทรวงคมนาคมมีความเชื่อมั่นว่านี่คือโอกาสของการขยายโครงสร้างพื้นฐานขยายทางรถไฟไปสู่พี่น้องประชาชน
จากนั้น นายอัครแสนคีรี ถามต่อถึง CY ลานพักขนส่งสินค้า ในรูปแบบทางราง หรือ คอนเทนเนอร์หยาบ ที่ทราบมาว่ามีที่อำเภอจตุรัส และช่องสามหมอ อยากสอบถามว่าจะสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างไร
นางมนพร ระบุว่า การสร้าง CY เพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนในการขนถ่ายสินค้า โดยเฉพาะในภาคอีสานและจังหวัดชัยภูมิ มีพี่น้องเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ต้องการขนถ่ายสินค้าการขนส่งต้นทุนต้นทุนที่น้อยที่สุดในเส้นทางจตุรัส และช่องสามหมอ อยู่ในระหว่างทำผลการศึกษา ซึ่งต้องมีกกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนว่ามีความเห็นอย่างไร ในเวลานั้นก็คงจะต้องขอให้ สส.ในพื้นที่ได้ประสานไปยังที่พี่น้องประชาชนในการขอความเห็น
“จุดในการทำ CY ดิฉันเชื่อมั่นว่า หลายจุดที่ทางการรถไฟไปศึกษามาอาจจะไม่ใช่จุดที่ประชาชนพอใจ จึงต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน กระทรวงคมนาคมได้มุ่งมั่นสร้างโอกาสและการแข่งขันรวมถึงการดูแลพี่น้องประชาชน เพราะเชื่อมั่นว่า โครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะสร้างความเจริญในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคมต่อไป” นางมนพร ยืนยัน