10 พฤศจิกายน 2567 แหล่งข่าวจาก "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" (สตช.) แจ้งว่า ตั้งแต่ ก.ตร.มีมติให้ "พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์" เป็น ผบ.ตร.ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผบ.ตร.กำชับตำรวจทุกนายว่า ต้องให้บริการประชาชนทุกคน อย่างเป็นธรรมและรักษากฎหมายและผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องเร่งรัดและตั้งใจทำงานกับคดีต่างๆที่สังคมให้ความสนใจในช่วงนี้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ทุกคดีที่เกิดขึ้นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว รอบคอบ เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างชื่อเสียงที่ดีและกอบกู้ภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจให้สังคมเชื่อมั่นอีกครั้ง หากตำรวจรายใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด "ผบ.ตร." เน้นว่าต้องดำเนินคดีถึงที่สุดอย่างเด็ดขาดทุกราย
แหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนกระแสข่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำเรื่องขอเวชระเบียนการรักษาตัวของ"นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่รับโทษ จากโรงพยาบาลตำรวจ ชั้นสิบสี่ไปถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ โดย"พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ" กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วว่า มีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระติดต่อขอข้อมูลการรักษาตัวของทักษิณ จากโรงพยาบาลตำรวจ แต่ในส่วนของการบริหารราชการ
"ถึงแม้จะเป็นผู้บังคับบัญชา แต่อำนาจสิทธิ์ขาดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของโรงพยาบาลตำรวจ ที่จะต้องพิจารณาคำร้องขอว่าสามารถให้ได้หรือไม่ อย่างไร เพราะ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ยืนยันว่า ประเด็นนี้โรงพยาบาลตำรวจไม่จำเป็นต้องขอความเห็นจาก ผบ.ตร. ส่วนเรื่องดังกล่าวจะมีนัยอะไรหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่กำชับให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด" แหล่งข่าว อ้างถึงคำกล่าวของ ผบ.ตร.
แหล่งข่าวจาก "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"กล่าวว่า ตอนนี้ฝ่ายการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม สื่อมวลชนบางรายและนักกฎหมายบางคน พยายามกดดันมาที่ "ผบ.ตร."ว่า "ผบ.ตร."ต้องสั่งการให้โรงพยาบาลตำรวจส่งข้อมูลของ"นายทักษิณ"ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ หาก "ผบ.ตร."ไม่กระทำ อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157 นั้น
หากพิจารณาสิ่งที่ "ผบ.ตร." กล่าวกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขอชี้แจงว่า กรณีของ "นายทักษิณ"นั้น "ผบ.ตร." จะไม่แทรกแซงการทำงาน การพิจารณาและการตัดสินใจของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ที่ต้องพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ แต่ขอให้ไล่เรียงไทม์ไลน์กรณีนี้ด้วยว่า "นายทักษิณ" กลับประเทศและไปรายงานตัวต่อศาลและเข้าเรือนจำในวันที่ 22 ส.ค.2566 และรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน
โดยช่วงนั้นผู้บังคับบัญชาที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์และ"พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล" อดีต ผบ.ตร. โดยช่วงนั้น"พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ"ได้รับการแบ่งงานจาก"พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์" ให้กำกับดูแลหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปปง.ตร.),ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.)และพลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ มอบให้"พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ" รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม
แหล่งข่าวจาก"สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"กล่าวว่า หากพิจารณาไทม์ไลน์อย่างเป็นธรรมจะพบว่า การรับผิดชอบหน้าที่ของ"พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ"ในช่วงที่เป็นรอง ผบ.ตร.กับกรณี"นายทักษิณ"ที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น จะพบว่า ในช่วงนั้น"พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ"ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลตำรวจเลย
แต่กระแสกดดันจากหลายฝ่ายในตอนนี้ที่พยายามโยงว่า "ผบ.ตร."อาจไม่ร่วมมือในการให้ข้อมูลของ"นายทักษิณ"และอาจมีความผิดไปด้วยนั้น ต้องพิจารณาข้อกฎหมายและเคารพการพิจารณาของคณะกรรมการของโรงพยาบาลตำรวจในกรณีนี้ด้วย
หากบางฝ่ายระบุว่า"ผบ.ตร."มีอำนาจสั่งการให้โรงพยาบาลตำรวจดำเนินการในเรื่องนี้ได้นั้น ควรพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายที่มอบให้ ผบ.ตร.รับผิดชอบด้วยว่ากระทำ/ไม่กระทำอะไรได้บ้าง ขอ ยืนยันว่า แม้วันนี้ "ผบ.ตร."มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แต่ ผบ.ตร.ก็ต้องเคารพกฎหมายเหมือนประชาชนทุกคน ดังนั้น "ผบ.ตร." จะกระทำในสิ่งนอกเหนือกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไม่ได้
รมว.ยุติธรรม ยันไม่หนักใจปม ทักษิณชั้น14
ด้าน "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึง กรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เป็นประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม หารือกรณีการพักรักษาอาการป่วยของ"นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ มีความถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ นั้น
โดยยอมรับว่า ไม่หนักใจในเรื่องนี้ พร้อมกับเปิดเผยว่า ตอนนี้มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่มีหน้าที่มาสอบสวนแทน คนที่มีหน้าที่โดยตรงคือป.ป.ช. ทางกระทรวงยุติธรรมได้ให้หลักฐานหมดไปแล้ว
แต่คนที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงพยายามเอาเรื่อง และหรือวรรคตอน เอาไปใช้แล้วมาสื่อสาร เมื่อเรื่องเข้าสู้กระบวนการขององค์กรอิสระแล้ว ไม่ว่าจะเป็นป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือองค์การสิทธิมนุษย์ชนฯ ถ้าเรื่องไหนเข้าเรื่องใครก่อน องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะนำมาสืบสวนสอบสวนไม่ได้
แต่วันนี้กำลังเอาเรื่องซ้ำกันมาพูดอีก โดยเรื่องนี้ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้มีการชี้แจงกรรมาธิการตำรวจแล้ว ในหัวข้อเดียวกัน และกรรมาธิการตำรวจก็ได้ยุติเรื่องแล้ว แต่ก็มีกรรมาธิการอีกชุดหนึ่งมาสอบสวนอีก ซึ่งขณะนี้ได้ให้กรมราชทัณฑ์ดูว่าประเด็นซ้ำกันหรือไม่ เป็นการกระทำเพื่อเจตนาจะเอาความจริงหรือเจตนาจะมาทำลายทางการเมือง หรือจะนำมาเพื่อสร้างชื่อเสียงทางการเมือง เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง