นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยกคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เพื่อกำชับนโยบายด้านความมั่นคง และให้กำลังใจกำลังพลกองทัพเรือที่ปฏิบัติงานบนเกาะกูด โดยมี พลเรือเอกไพโรจน์ เฟื่องจันทร์ เสนาธิการทหารเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับ
นายภูมิธรรม กล่าวให้โอวาทว่า มาตรวจเยี่ยมและดูความเป็นอยู่ของกำลังพลในพื้นที่ เพื่อให้สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ หากขาดเหลืออะไรขอให้แจ้งไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้อง สิ่งใดที่ดำเนินการแก้ไขได้ จะผลักดันเต็มที่
วันนี้มายืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย มีหน่วยงานราชการ ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนถึงกำลังพลของกองทัพเรือที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ เพราะที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดของคนบางกลุ่มในประเทศที่รู้สึกว่ามีปัญหา MOU44 ที่กัมพูชาลากเส้นมาและมีแนวเกาะกูดอยู่ตรงนั้นด้วย ถือเป็นการประกาศอ้างไหล่ทวีปขยายอาณาเขตตัวเองออกไปในปี 2515
ขณะที่ปี 2516 ไทยได้ประกาศไหล่ทวีปเส้นเขตแดนของเราเช่นกัน ทำให้มีเส้นทับซ้อนที่ต้องเจรจากัน โดยยึดกฎหมายระหว่างประเทศทางทะเล แต่ขอยืนยันได้ว่า พื้นที่ตรงนี้ยังเป็นของไทย และกัมพูชาไม่เคยพูดเรื่องนี้ และยอมรับโดยปริยาย ทั้งนี้มีการขีดเส้นที่เคยคุยกันในปี 2549 โดยเว้นเกาะกูดเอาไว้ เพียงแต่เราอยากให้เส้นนี้ขยายออกไปเพื่อให้เกิดความชัดเจน
ขณะเดียวกัน ย้ำว่า พื้นที่นี้เป็นอธิปไตยของไทย มีกองทัพเรือรับผิดชอบทั้งบนบกและทะเล การลงพื้นที่เนื่องจากมีความไม่เข้าใจ MOU44 ซึ่งหากมองไปรอบๆจะเห็นได้ว่าเกาะกูดมีธงชาติไทยอยู่รอบๆ รวมถึงกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ใช้ป้องกันประเทศ
ส่วนความสัมพันธ์ตามแนวชายแดนทางผู้บังคับหน่วยระดับสูงของไทย-กัมพูชาไปมาหาสู่กัน ผลัดกันมาเยี่ยมเยือน และร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน พื้นที่ตรงนี้ไม่ได้มีอะไรวิกฤติหรือน่ากังวล ยืนยันว่าที่นี่มีความสงบสุข มั่นคงปลอดภัย
ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด นอกจากดูแลอธิปไตยประเทศแล้ว ยังทำหน้าที่ดูแลเหตุทางทะเล อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ไม่มีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ หลายพื้นที่เป็นเขตอุทยาน พิสูจน์สิทธิ์ได้พอสมควรแล้ว อาจต้องเร่งคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติ เพื่อใช้วันแมพ ซึ่งมีความคืบหน้ามาตามลำดับ โดยได้มีการประชุมเพิ่มงบประมาณส่งเสริมให้กรมแผนที่ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ส่วนจะต้องปรับปรุง MOU44 หรือเปลี่ยนใหม่ เพราะผ่านมาหลายปีแล้วการเจรจาไม่สำเร็จนั้น นายภูมิธรรม บอกว่า MOU44 ไม่ได้พูดถึงผลประโยชน์อะไร เพียงแต่ระบุว่ามีพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ในกฎหมายทะเล และ MOU44 ขอให้มาดำเนินการในเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้อย่างสันติ เวลาจะผ่านไปกี่ปี MOU44 ก็เป็นกลไกที่สำคัญ ทั้งกองทัพ กระทรวงต่างประเทศ กรมสนธิสัญญา เห็นตรงกันว่ากลไกนี้มีความสำคัญ แม้แต่ นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ , อดีตนายทหารเรือ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็เคยเป็นประธานคณะกรรมการร่วมเทคนิคฝ่ายไทย สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้เดินหน้าต่อเนื่องมาในทุกรัฐบาล
“สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกษิต พูดชัดเจนว่า ไม่ใช่เพราะ MOU44 ไม่มีประโยชน์ เพียงแต่ขณะนั้น รัฐบาลไม่พอใจสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา แทรกแซงหรือไม่ จึงแสดงออกด้วยการตอบโต้ ไม่มีผลอะไร เพราะไม่ได้เข้าสภา หรือยกเลิก และทางกัมพูชาก็ไม่ได้ยกเลิกด้วย พอมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ดำเนินการต่อ เรื่องนี้หากใช้วิจารณญาณให้ครบถ้วนจะเห็นได้ว่าไม่มีปัญหาอะไร โดยกังวลเรื่องเดียวอย่าให้เอาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองที่กำลังต่อสู้กัน หรือ แสดงออกด้วยกันกระทบผลประโยชน์ประเทศชาติ เพราะเรื่องอธิปไตยหรือเขตแดนไม่ใช่ของเล่นเฉพาะคนบางส่วน อยากให้คำนึงผลประโยชน์คนไทยเป็นสำคัญ”
นายภูมิธรรม ยังย้ำถึงการลงพื้นที่เกาะกูด ท่ามกลางการต่อต้านของฝ่ายการเมืองและคนบางกลุ่ม ว่า ไม่ใช่การฝ่ากระแส แต่ในฐานะจะเป็นผู้รับผิดชอบการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ควรมาดูพื้นที่ที่จะเจรจากันเท่านั้นเอง และมีภารกิจเยี่ยมกำลังพลอยู่แล้ว จึงถือโอกาสนี้ ส่วนการตั้งคณะกรรมการร่วมเทคนิคฝ่ายไทย (JTC) เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ตามที่นายกฯ ได้ระบุไปแล้ว ขณะนี้นายกฯ ไปปฎิบัติราชการต่างประเทศ แต่ระหว่างนี้ทางกรมสนธิสัญญา กระทรวงต่างประเทศ นำร่างเดิมมาดูแล้วปัดฝุ่น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการโดยตำแหน่งเกี่ยวข้องเขตแดน กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายทะเล แต่พยายามให้เพิ่มสำนักงานกฤษฎีกา อัยการสูงสุด สภาพัฒน์ ครอบคลุมมากขึ้น จะได้ไม่รู้สึกว่ากระทำเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง รัฐบาลแคร์เรื่องนี้ ไม่ต้องห่วง
ส่วนกรณีสมเด็จฮุนเซน เคยแต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจกัมพูชานั้น นายภูมิธรรม บอกว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหา คิดว่าจากการสำรวจเสียงต่อต้านที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองที่ต่อสู้กันมา กรณีนายทักษิณ เกือบ 20 ปีมาแล้วที่ได้รับการแต่งตั้ง และนายทักษิณยังเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจประเทศอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะกัมพูชา เพราะเห็นว่านายทักษิณประสบความสำเร็จแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลายประเทศเชิญไป แต่ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นปัญหา และจบภารกิจไปแล้ว อย่ากังวลและไปปลุกกันมาทุกเรื่อง
ส่วนนายกฯ แพทองธาร จะเดินทางมาเกาะกูดหรือไม่นั้น คงต้องสอบถามนายกฯ อีกครั้ง เพราะภารกิจมีมาก หากมาได้ ท่านคงมา แต่อย่างน้อยในฐานะคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว การเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ ก็เหมือนตัวแทน ครม. ทั้งคณะอยู่แล้ว