31 ตุลาคม 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ซึ่งมีการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป (MOU 44) และ "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยระบุว่า ขอให้อย่านำความคลั่งชาติมาทำให้เสียประโยชน์ของประเทศ ว่า ชาตินิยมไม่ใช่เรื่องผิด เผลอๆ อาจจะเป็นเรื่องที่รับได้ แต่ชาตินิยมที่ล้นเกินจนทำให้เกิดการทำลายล้างกันทางการเมือง และการสูญเสียโอกาสความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ประชาคมอาเซียน เป็นปัญหาที่ต้องระวัง
ถ้าพูดถึงเรื่อง"เกาะกูด" คือ การฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่ง MOU 44 จบไปแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าอย่างไรเกาะกูดก็ต้องเป็นของคนไทยแน่นอน ถ้าจะมีการพูดคุยกันในระดับ OCA ก็ต้องกำหนดพื้นที่ซึ่งมีปีโตรเลียมอยู่ และมีการพูดคุยกันแค่นั้น เกาะกูดไม่ควรเข้าไปอยู่ในการเจรจา ถ้าจำไม่ผิด พื้นที่ไม่ถึง 20,000 กว่าตารางกิโลเมตร แต่หากว่าไปไกลถึงขนาดกว้างเท่าเกาะกูด ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัย
"รัฐบาลก็ต้องออกมาพูดให้ชัดว่าถ้าจะทำเรื่องเกี่ยวกับปิโตรเลียม ก็คือหลังทำ OCA ต้องจำกัดให้ไม่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่มีทางเป็นของชาติอื่น ยกเว้นประเทศไทย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การตกลงกันระหว่างไทย-กัมพูชา แต่คือเรื่องระดับสหประชาชาติ ที่มีระเบียบโลกบอกไว้แล้วว่า เรื่องแบบนี้เป็นปัญหาเรื่องอาณาเขต (Territorial Issue) ของแต่ละชาติ"
"นายพิธา" มองว่า หากรัฐบาลพูดได้ชัด ก็จะทำให้เรื่องจบไป พื้นที่ที่มีข้อพิพาทอยู่ก็จำกัดอยู่แค่ตรงนี้เท่านั้น และไม่รวมเกาะกูด ซึ่งมองว่าจะทำให้เชื้อไฟที่ทำให้เกิดความชาตินิยมแบบล้นเกินำด้หมดไป แล้วค่อยมาสู้กันในเรื่องการแก้ปัญหาให้ประชาชน และออกกฎหมายที่มีความก้าวหน้า การตรวจสอบรัฐบาลแบบที่ควรจะเป็น แต่หากรัฐบาลยังไม่ออกมาพูดให้ชัดเจน จะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลเอง จะเกิดการตั้งคำถามว่าตกลงแล้วพื้นที่ซึ่งจะเจรจากับกัมพูชา คือหลักพันหรือหลักหมื่น หากพูดให้ชัดว่าจบแค่นี้จริงๆ ประชาชนก็จะไม่คิดเลยเถิดในแบบที่นายภูมิธรรม กังวล
"เมื่อเรื่องนี้ไม่ชัดเจน ประชาชนจึงตั้งคำถาม และเป็นการเปิดช่องให้นำกระแสชาตินิยมมาใช้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับชาติไทย และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประชาคมอาเซียนเลย โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แทนที่จะใช้ความเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียนในการบริหารอุณหภูมิทางภูมิรัฐศาสตร์ เราก็พลาดโอกาสนี้ไป"
"นายพิธา" ยังกล่าวถึงมุมมองต่อการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2024 โดยระบุว่า วันนี้มาร่วมในงานเปิดตัวหนังสือ “มรณกรรมของประชาธิปไตย หรือ How Democracy Die” ซึ่งเป็นหนังสือที่แวดวงวิชาการให้การยอมรับ โดยนำแก่นของเรื่องราวในหนังสือมาวิเคราะห์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน ภายใต้การรักษาความเป็นกลางและมารยาททางการเมือง และในฐานะที่เป็นอดีตนักการเมือง รวมถึงอดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยได้เล่าบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งของประเทศไทยด้วย