svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"แก้รธน."ส่อลากยาว เหตุ"ประชามติ." ไม่ทัน "เลือกนายกอบจ."กุมภาพันธ์ปี 68

"นันทนา" เผย กมธ.ประชามติ สว.พลิกมติเกณฑ์เห็นชอบการออกเสียงกลับไปเป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น - จ่อตั้ง กมธ.ร่วม สส.-สว. คาดทำประชามติไม่ทัน ก.พ.68 

25 กันยายน 2567  "นางสาวนันทนา นันทวโรภาส" สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วุฒิสภา เปิดเผยผลการประชุมกรรมาธิการศึกษากฎหมายการทำประชามติ ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบว่า วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ประชุมกรรมาธิการฯ มีมติเสียงข้างมาก ให้มีการกลับมติ ให้ไปใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority ที่ต้องมีเสียงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์มาเลือกตั้งมาใช้สิทธิ์ และผลประชามติ ก็ต้องเป็นเสียงข้างมากอีกชั้นหนึ่งด้วย

 

"นางสาวนันทนา"  ยังระบุอีกว่า การประชุม 4 ครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมกรรมาธิการฯ เห็นด้วยกับร่างที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ แต่วันนี้ (25 ก.ย.) กลับมีทบทวนมติเสียง และมีเสียงเกือบเอกฉันท์ คือ 17:1 ซึ่งตนเองเป็นเสียงข้างน้อย ไม่เห็นด้วยกับการทบทวนมติของกรรมาธิการ เพราะเห็นว่า ควรคงไว้ตามร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบมา

รวมถึงยังเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างผิดปกติ เพราะตลอดการประชุมของกรรมาธิการฯ เห็นพ้องกันว่า การทำประชามติควรเป็นการถามที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และมีโอกาสที่จะเป็นจริงได้มากที่สุด คือ การใช้เสียงข้างมากธรรมดา เกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ แต่วันนี้มีการกลับมติมือเป็นหลังมือ 

"นางสาวนันทนา" ยังเชื่อว่า หากวุฒิสภาเห็นพ้องตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก คาดว่า การทำประชามติ จะไม่สามารถทำได้ทันในช่วงที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิกสภา อบจ.พร้อมกันทั่วประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2568 จึงตั้งเป็นข้อสังเกตว่า มีความผิดปกติในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วย 

 

"นางสาวนันทนา" ยังมองว่า การพลิกมติครั้งนี้ อาจเป็นความพยายามยื้อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นในสภาชุดปัจจุบัน ซึ่งหากวุฒิสภา ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายประชามติที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม และต้องใช้เวลามากกว่า 60 วันจึงจะดำเนินการแล้วเสร็จ

ดังนั้น จึงไม่ทันช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ.ทำให้ความเป็นจริงที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แทบจะมองไม่เห็น

ส่วนหากมีการตั้งกรรมาธิการร่วมกันแล้วนั้น "นางสาวนันทนา" ระบุว่า ก็ต้องขึ้นอยู่กับมติของกรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งสัดส่วนกรรมาธิการร่วม มีพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลต่อเสียงวุฒิสภา และอาจเป็นทิศทางของพรรคการเมืองดังกล่าว ที่ไม่ต้องการให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในสมัยของสภาชุดปัจจุบันด้วย 

 

\"แก้รธน.\"ส่อลากยาว เหตุ\"ประชามติ.\" ไม่ทัน \"เลือกนายกอบจ.\"กุมภาพันธ์ปี 68

"นางสาวนันทนา" ยังกล่าวถึงกรณีกรณีที่รัฐบาล ถอยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมืองว่า อาจจะเป็นการถอยแล้วไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะการแก้ในแต่ละมาตรา อาจเป็นอุปสรรค เพราะจะผ่านความเห็นชอบค่อนข้างยาก 

 

"ภูมิธรรม"  ปัดตอบปมแก้ รธน. ยังไม่ชัดแก้ทั้งฉบับ-รายมาตรา 

 

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล "นายภูมิธรรม เวชยชัย"  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีพรรคการเมืองใหญ่พรรคใดที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา ว่า โอ้ย เรื่องนี้จบไปแล้ว ขอให้ไปโฟกัสเรื่องน้ำท่วมดีกว่า กำลังจะไปทำงานเรื่องน้ำท่วม โดยวันนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ออกไปแล้ว เงิน 145,000 ล้านบาทไปช่วยเยียวยาประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งประชาชนมีความต้องการมากนั่งรอกันตั้งแต่ช่วงดึก ซึ่งตนมีความเห็นใจและเข้าใจประชาชน หลังจากนี้ก็ต้องตามเงินก้อนนี้ต่อว่าออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร และเตรียมการเงินในส่วนที่สองต่อไป

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะต้องถอนออกไปก่อนหรือไม่ "นายภูมิธรรม" กล่าวว่า เรื่องนี้รอหลังจากนี้แล้วจะคุย ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกัน 

 

ภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

ส่วนจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับหรือรายมาตรานั้น "นายภูมิธรรม" กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยต้องหารือกันอีกครั้ง ต้องให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล แต่เรื่องทั้งหมดเดินหน้าอยู่แล้วในสภา รวมถึงเรื่องกฎหมายประชามติก็ต้องแก้อยู่แล้ว เสร็จแล้วก็ต้องส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และ กกต.ก็ดำเนินการ ซึ่งกระบวนการดำเนินไปตามขั้นตอนอยู่แล้ว

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ารัฐมนตรีจะสามารถแบ่งหน้าที่กันทำได้หรือไม่ว่าน้ำท่วมก็ไปทำน้ำท่วม แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไปทำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรม กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญในสภาเขาก็ทำกันอยู่แล้ว และพรรคการเมืองทุกพรรคก็อยู่ในสภาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการก็เดินหน้าไป แต่วันนี้ไม่อยากให้ไปโฟกัสเรื่องอื่น ขอให้สื่อไปตามกับ สส. หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชูศักดิ์ ศิรินิล หรือประธานวิปรัฐบาล ขณะนี้เรากำลังโฟกัสเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วม