svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กองทุนรวมวายุภักษ์" ส่อผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาต กบข.-กองทุนประกันสังคม

"ธีระชัย​" ชี้ กองทุนรวมวายุภักษ์​ ส่อผิดกฎหมาย​ ไม่ขออนุญาต​ กบข.​-กองทุนประกันสังคม ที่เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่​ สอนใช้เงินแผ่นดินต้องทำเป็นกม.​ ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกฯ​ 4 ฉบับ​ หากไม่แอ็คชั่น​ ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่

17 กันยายน 2567  "นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ​ กล่าวถึงโครงการกองทุนรวมวายุภักษ์ ของกระทรวงการคลัง ว่า​ เป็นโครงการที่มีปัญหา​ เฉือดเนื้อคนจนไปแปะให้คนรวย​ เพราะทรัพย์สินของรัฐทั้งหมดเป็นของประชาชนทั้งประเทศ แต่นำไปอุดหนุนให้กับคนที่จะมาร่วมลงทุน แค่หลักพันหลักหมื่น ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ไม่ถูกต้อง ในการที่ขยายขอบเขต "กองทุนวายุภักษ์"​ จากที่เป็นการระดมทุนในปี 2546 สมัยนายกฯ ทักษิณ​ ชินวัตร​ เป็นการระดมมาเพื่อใช้ในกิจการภาครัฐ

 

แต่ครั้งนี้นอกจากเป็นการเอามาลงในหุ้นตลาดหลักทรัพย์​ ยังนำไปลงทุนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์​ ทั้งในเรื่องทองคำ​ น้ำ​มันดิบ​ สินค้าโภคภัณฑ์​ หุ้นกู้​ขยะ​ หากอยู่ในวงการพระ อาจเรียกได้ว่า “ไม่ใช่กิจของสงฆ์​” เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ตนมองว่าเกินเลย 

"นายธีรชัย" กล่าวว่า หนังสือชี้ชวนให้ลงทุน แม้จะมีการบอกว่าไม่รับประกัน แต่คนที่อ่านกฎหมายเป็นจะบอกได้เลยว่า มีผลของการประกัน ทั้งในเรื่องของผลตอบแทน และการประกันเงินต้นโดยอัตโนมัติ เพราะกองทุนนี้มีกำไรสะสมอยู่แล้ว 1.4 แสนล้านบาท​

 

"นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ​

 

ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน เพราะกำไรสะสม 1.4 แสนล้าน และทรัพย์สินที่มีอยู่ 3.5 แสนล้านเป็นของภาครัฐ ที่กระทรวงการคลังถือแทนประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งถ้าเป็นเงินข้าราชการ ​กบข. ก็ถือหลักผลประโยชน์แทนข้าราชการที่เป็นสมาชิก

 

\"กองทุนรวมวายุภักษ์\" ส่อผิดกฎหมาย ไม่ขออนุญาต กบข.-กองทุนประกันสังคม

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย ซึ่งคนที่ดำเนินการอ้างว่า ทำได้เนื่องจากมีมติ ครม. กำกับเอาไว้ ซึ่งตนกังวลแทนเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ที่เป็นลูกน้องเก่าของตน ต้องเข้าใจว่า กบข. หรือกองทุนประกันสังคม เขามีกฎหมายเฉพาะ แต่มติ ครม. ไม่มีอำนาจเหมือนทั้ง​ 2 กองทุนข้างต้น​ที่มีเงิน​ ซึ่งจะต้องไปขออนุญาตจากทาง กบข. และกองทุนประกันสังคม เนื่องจากเป็นหน่วยลงทุนรายใหญ่​  ครม.ไม่มีอำนาจดำเนินการนอกเหนือจากกฎหมายที่ตั้ง 2 กองทุนนี้

ขณะเดียวกัน เงินของ กบข. และกองทุนประกันสังคม ที่อยู่ในกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็นเงินของแผ่นดิน การใช้เงินแผ่นดินจะต้องทำเป็นกฎหมาย อยู่ดีๆจะนำเงินไปมอบให้กับผู้จัดการกองทุน ไปแจก หรือนำไปอุดหนุน หรือชดเชยเพื่อคุ้มครองเงินต้น ถือว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การใช้เงินแผ่นดินมีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ที่จะต้องออกเป็นกฎหมายผ่านรัฐสภาเท่านั้น

 

"นายธีระชัย" กล่าวต่อว่า ปัญหาทั้งหมดได้ทำเป็นจดหมายเปิดผนึก ส่งถึง"นางสาวแพทองธาร ชินวัตร"​ นายกรัฐมนตรี ให้รับทราบไปแล้วถึง 4 ฉบับ หากเห็นด้วยกับตนว่ามีปัญหา เสี่ยงกับการผิดกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจะต้องมีปฏิกิริยา ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมกันนี้ยังทำจดหมายอย่างเป็นทางการแจ้งไปยังประธานคณะกรรมการ กบข. และเลขาธิการกองทุนประกันสังคม  ให้รับทราบแล้ว ทุกคนมีหน้าที่ต้องดูแลตัวเอง

นายอุตตม สาวนายน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่กำหนดการแก้หนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนลำดับแรกของคณะรัฐมนตรี แต่ก็มีข้อเสนอแนะว่า การแก้หนี้ให้บรรลุผลนั้น ต้องทำครบวงจร เช่น รัฐบาลต้องผนึกธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินเอกชน/รัฐ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยืนในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อน เติมกำลังให้ประชาชนและเศรษฐกิจ สร้างอนาคตประเทศ ทั้งนี้ โครงการที่ทำต้องเข้าถึงประชาชนฐานรากทั่วทั้งประเทศ บริการเสมอภาคเป็นธรรม พร้อมทั้งมีการนำเทคโนโลยีมาร่วมขับเคลื่อน

"รัฐมนตรีคลัง ควรหารือกับ ธปท. ถึงแนวทางการลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) เหลือ 0.23% ต่อ 6 เดือน ชั่วคราว 5 ปี เพื่อนำเงินที่ประหยัดได้ไปลด  ยอดหนี้ (haircut) สำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน และต้องเจรจาให้ธนาคารต้องนำกำไรสะสมมาร่วมด้วยไม่น้อยกว่า 25% ของหนี้ที่ลดให้แก่ลูกหนี้ อันเป็นการร่วมมือกันแก้ปัญหาระหว่างรัฐกับเอกชน” นายอุตตม  กล่าว