svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วันนอร์" ยังไม่ได้รับหมายศาลนราธิวาส เรียกตัว"พล.อ.พิศาล" จำเลยคดีตากใบ

"ประธานสภาฯ" ยังไม่ได้รับหมายศาลนราธิวาส เรียกตัว สส.เพื่อไทยจำเลยคดีตากใบ – ย้ำต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมสภาฯ จะอนุญาตส่งตัวหรือไม่ 

17 กันยายน 2567  "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงถึงกรณีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส เตรียมออกหมายเรียก"พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะจำเลยคดีตากใบว่า ตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ ยังไม่มีหนังสือจากศาลส่งมาที่ตนเอง แต่ศาลก็ได้เตรียมออกหมายเรียก แต่สภาฯ ยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว

 

"หากสภาฯ ได้รับเอกสารแล้ว สภาฯ ก็จะรีบพิจารณาโดยเร็ว พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีการรับฟังนโยบายจากพรรคเพื่อไทย หรือฝ่ายใดๆ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ยังไม่เคยมีกรณีในลักษณะนี้มาก่อน"  

ส่วนกรณีที่ "พลเอกพิศาล" ได้ลาประชุมไปในระยะหนึ่งนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า ตามขั้นตอนหนังสือลาประชุม ไม่ได้ถูกส่งมาที่ตน เพราะโดยปกติจะถูกส่งไปที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาเหตุผลของการลา ซึ่งเป็นสิทธิ์ของ สส.

"นายวันมูหะมัดนอร์" ยังชี้แจงขั้นตอนกรณีดังกล่าวด้วยว่า หากศาลฯ เห็นว่า จะต้องดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภาในระหว่างสมัยประชุม หรือนอกสมัยประชุม สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการประชุมสมาชิกรัฐสภา หรือไปรบกวนการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถือเป็นเนื้อหาใหม่ที่เติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้เห็นว่า อำนาจนิติบัญญัติ กับอำนาจตุลาการนั้นแยกออกจากกัน

พร้อมยังได้ยกตัวอย่าง กรณีศาลจังหวัดพัทยา ในคดีของนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็มีการดำเนินคดี แต่ไม่ได้มีการจับกุม หรือนำตัวนายอดิศร ไป แต่ส่งทนายไปเป็นตัวแทน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะดำเนินการอย่างไร

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีหากศาลจังหวัดนราธิวาสมีหนังสือมาถึงสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอจับกุมดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภาว่า หากฝ่ายตุลาการจะดำเนินการใด ๆ ในสมัยการประชุม จะต้องขออนุญาตจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะมีการทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ให้เปิดประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาว่า จะให้ส่งตัวไปดำเนินคดีได้หรือไม่

 

าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

 

พร้อมยังได้ยกตัวอย่างคดีในอดีต ที่สมาชิกรัฐสภาประสงค์ไม่ใช้สิทธิ์ในการคุ้มกัน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในคดี แต่ตามปกติที่ประชุมรัฐสภา จะไม่อนุญาต เนื่องจากจะต้องมองภาพรวมในสถาบันนิติบัญญัติว่า ต้องมีหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ในสมัยประชุม แม้ตัวสมาชิกจะประสงค์สละสิทธิ์นั้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะอนุญาตหรือไม่

 

สำหรับหนังสือขอลาของพลเอกพิศาลนั้น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า จะต้องไปตรวจสอบที่สำนักบริหารงานกลาง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดูในรายละเอียดต่อไป