svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กมธ.งบฯ แจงกรมประมง ทำแผนเร่งด่วนแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

กมธ.งบฯ แจงกรมประมง ทำแผนเร่งด่วนแก้ปัญหาปลาหมอฯ กว่า 181 ล้านบาท ขณะที่ กรมส่งเสริมฯ-วิชาการเกษตร เตรียมงบกว่า 194 ล้าน แก้โรคใบด่างมันสำปะหลังแล้ว 

4 กันยายน 2567 นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคไทรวมพลัง ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 สภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ 2568 มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วาระที่ 2 หลังนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน เสนอตัดลดงบประมาณกรมประมง โครงการค่าใช้จ่ายเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้ และลดค่าครองชีพประชาชน จำนวน 307 ล้านบาท ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลง 5 เปอร์เซ็นต์ จากปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งหากกรมประมง ทำหน้าที่เต็มที่ในการดูแลแหล่งน้ำ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงเช่นนี้ และการทำหน้าที่ของกรมประมงก็ยังไม่ดีพอ 

กมธ.งบฯ แจงกรมประมง ทำแผนเร่งด่วนแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

โดยนายวสวรรธน์ ยืนยันว่า กรรมาธิการฯ เห็นด้วยกับปัญหาปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาด จนเป็นปัญหาระดับประเทศ และยอมรับว่า ปัญหาที่มีการแพร่ระบาด ตั้งแต่ปี 2561 นั้น ก็ใช้งบประมาณไปเพียง 16 ล้าน ซึ่งไม่เพียงพอ ดังนั้น กรรมาธิการฯ ก็ได้มีข้อสังเกตไปยังรัฐบาลให้ใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ โดยในระยะแรกในการเฝ้าระวังการแพร่กระจาย และศึกษาผลกระทบ ใช้งบประมาณราว 7,000,000 บาท แต่กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนแก้ปัญหาเร่งด่วนอีก 181 ล้านบาท 

นายวสวรรธน์ ยังชี้แจงกรณีนายวุฒิพงษ์ นามบุตร สส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ ที่ไม่เห็นชอบกับงบประมาณของกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ในแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังไม่ตรงจุด ซึ่งแทนที่จะสนับสนุนงบแก้ปัญหา แต่กลับไปใส่งบไว้สำหรับการศึกษา จึงไม่เห็นชอบด้วย โดยนายวสวรรธน์ ชี้แจงว่า กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ตั้งงบประมาณ สำหรับการแก้ปัญหาเร่งด่วนในปี 2568 ในระยะกลางไว้แล้ว จำนวนกว่า 194 ล้านบาท เพื่อไปขยายพันธุ์มันสำปะหลัง ที่สามารถต้านทานโรคใบด่างได้ โดยเป็นพันธุ์อิทธิ (อิด-ทิ) 1, 2 และ 3 พร้อมขอบคุณไปยังมูลนิธิสถาบันมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ที่ได้เอื้อเฟื้อพันธุ์มันสำปะหลังแก่รัฐบาล เพื่อนำไปขยายพันธุ์ให้กับเกษตรกรต่อไป