svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อ่านโจทย์ใหญ่ กลยุทธ์ "เพื่อไทย" ปั่น-ทำลาย “ระบบหลายพรรคการเมือง”

อ่านโจทย์ใหญ่ กลยุทธ์ "เพื่อไทย" ปั่น-ทำลาย “ระบบหลายพรรคการเมือง” เพียงเพราะต้องการให้พรรคตัวเองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมั่นคง

29 สิงหาคม 2567 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักรัฐศาสตร์ มองกลยุทธ์ทางการเมืองของ นายทักษิณ ทำให้ธรรมชาติของระบบพรรคการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป - ประเทศไทยเป็น “ระบบหลายพรรค” มาตลอด ทั้งก่อนและหลังมี พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรกของไทย 

ยกตัวอย่างเช่น พรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคสหชีพ และพรรคอิสระ สามพรรคนี้อยู่ภายใต้ผู้นำคนเดียว คือ ปรีดี พนมยงค์ แม้ 3 พรรค นักการเมือง 3 กลุ่มจะเข้ากันไม่ได้ เช่น ประเด็นอุดมการณ์การเป็นเสรีไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยอมรับผู้นำคนเดียวกัน และสนับสนุนให้ปรีดีเป็นผู้นำ ยุค จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ ก็เป็นแบบนั้น 

แต่นายทักษิณ เมื่อปี 2544 ทำให้นโยบายของไทยรักไทยเป็นที่นิยมของชนชั้นกลาง ทำให้ได้คะแนนเสียงสูงสุด และทำลายระบบหลายพรรคในเวลาต่อมา กระทั่งถึงปี 2548 ก็ปฏิบัติการควบรวมหลายพรรคเข้ามาเป็นพรรคเดียว คือไทยรักไทย และได้ สส.มากถึง 377 เสียง

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักรัฐศาสตร์

และปี 2554 พรรคเพื่อไทยก็ได้ สส.เกินครึ่ง ผลคือ ทำให้ระบบหลายพรรคอ่อนตัวลง โดยปัจจุบันนายทักษิณกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง และกำลังจะฟื้นการทำลายระบบหลายพรรค และทำให้พรรคของตนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมั่นคง แน่นอน

โจทย์ของนายทักษิณคือ ทำทุกอย่างให้พรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชน ได้ สส.ไม่ถึง 250 เสียง หรือแม้เพื่อไทยได้ที่ 2 แต่ก็ต้องรวมเสียงให้ได้เกิน 250 เป็นที่สองยังโอเค แต่ถ้าเป็นที่ 1 ได้จะดีที่สุด แม้จะไม่เกิน 250 ก็ตาม ประเมินจากสถานการณ์การเมือง ณ เวลานี้ หากพรรคใดต้องการ สส.เกิน 250 เสียง ต้องบอกว่ายากมาก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย หรือพรรคประชาชน ก็ตาม

ดังนั้นยุทธศาสตร์ของนายทักษิณ คือ เชื้อเชิญ ใช้ผลประโยชน์แลก หรือกดดันให้พรรคการเมืองอื่นมารวมกับพรรคตนให้มากที่สุด โดยต้องทำทุกวิถีทาง รวมทั้งสร้างความแตกแยกให้พรรคอื่น ตัวอย่างที่เห็นตอนนี้คือ พลังประชารัฐโดนย่อยสลายแล้ว และกำลังดึง “ปีกผู้กอง” มาร่วมกับตน รวมถึง สส.ที่ยังอยู่สายบ้านป่าด้วย และคิวต่อไปอาจจะเป็นรวมไทยสร้างชาติ

แต่ภูมิใจไทย เป็นไปไม่ได้ที่จะควบรวม เพราะภูมิใจไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก และมีโอกาสเบียดแทรกขึ้นมาเป็นพรรคต้นขั้วมากขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์ของเพื่อไทย หรือนายทักษิณ คือ ควบรวมพรรคต่างๆ หลังปั่นให้แตก เพื่อดูด-ดึง สส. ขณะเดียวกันก็ “ผูกเสี่ยว” กับภูมิใจไทยให้แน่นหนา ถ้าพรรคประชาชนยังชูนโยบายว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ภูมิใจไทยก็ไปร่วมด้วยไม่ได้ เพราะประกาศสัญญาประชาคมไว้แล้ว

อ.ไชยันต์ มองว่า แม้โอกาสของเพื่อไทยจะเปิดกว้าง แต่ปัญหาและอุปสรรคก็มีอยู่เช่นกัน

  • คนรู้สึกไม่ค่อยดีกับพรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นแฟนคลับ ทั้งจากการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วครั้งแรก และครั้งนี้ก็ไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่แค้นทางการเมืองกันมา
  • นโยบายเรือธงยังทำไม่ได้ แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น
  • ความสำเร็จ 377 เสียงเมื่อปี 2548 ตอนนั้นกลุ่มนายเนวิน อยู่กับไทยรักไทย กวาด สส.ยกจังหวัด 10 เขต แต่วันนี้ นายเนวิน แยกตัวไปแล้ว และภูมิใจไทยก็โตขึ้น แม้ไม่ได้เร็ว แต่ก็ค่อยๆ โต อย่างมั่นคง โอกาสที่จะไปควบกลืนจึงเป็นไปได้ยาก
  • ความเสี่ยงถูกรองยุบพรรค โดยเฉพาะประเด็น “ครอบงำ ชี้นำ สั่งการ” ผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งถ้าไพ่ใบนี้เปิดออกมามากขึ้น โดนร้องหนักขึ้น ก็จะอลหม่านพอสมควร
  • จุดอ่อนนายทักษิณ คือโฉ่งฉ่างตลอด เช่น เรื่องครอบงำ พรรคอื่นก็มี แต่ไม่ทำประเจิดประเจ้อ โดยความมั่นใจที่ปรากฏผ่านท่าทีและคำสัมภาษณ์ของนายทักษิณ ไม่ใช่เพราะได้ mandate หรือ อาณัติอะไรมา แต่เป็นบุคลิกส่วนตัวซึ่งเป็น “ข้อเสีย” และ “จุดอ่อน” ทางการเมือง ทำให้มีโอกาสพลาดตลอดเวลา

อ.ไชยันต์ ยอมรับว่า ปัญหาที่พูดมาทั้งหมด นายทักษิณก็ทราบดี และน่าจะหาวิธีแก้เอาไว้

  • เรื่องการรวมเสียง ก็ใช้วิธี “ผูกเสี่ยว” กับภูมิใจไทย และไม่เปิดศึกด้วย
  • นโยบายเรือธง อย่างดิจิทัลวอลเล็ต มีแนวโน้มแจกเงินหมื่นเป็นเงินสด
  • จะมีนโยบายประชานิยมใหม่ๆ ตามมาอีก จะมีการคิดนโยบายมาจูงใจผู้คน โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่จะหันไปเลือกพรรคประชาชน เพื่อให้กลับมาคิดใหม่ว่าคุณทักษิณก็ทำให้ได้ ฉะนั้นต้องมีลูกเล่นอะไรออกมา (เหมือนตอนที่พูดในเวทีของเนชั่น Vision for Thailand)
  • ถ้าเพื่อไทยทำได้ตามที่พรรคก้าวไกลเคยหาเสียงไว้ได้ ก็จะทำให้คนเชื่อว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเลือกก้าวไกล เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท แต่ไม่แจกทุกคน หรือนโยบายเด่นอื่นๆ ของก้าวไกล อาทิ หวยใบเสร็จ เพื่อช่วยเอสเอ็มอี เชื่อว่านายทักษิณเอาแน่ ทำแน่ และจะทำได้ฉูดฉาดกว่าที่ก้าวไกลเสนอ ขณะเดียวกันก็สร้างความต่าง คือ ไม่แตะสถาบัน ไม่สร้างความแตกแยกกับกลุ่มอำนาจเก่า อนุรักษ์นิยม ซึ่งอาจดึงแฟนคลับรวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ให้หันมาเลือกเพื่อไทยมากขึ้นด้วย