กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายข้องใจสงสัย หลังจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมาให้ข่าวใหม่ว่า “อดีตนายกฯทักษิณ” ซึ่งอยู่ระหว่างการ “พักโทษ” ต้องรับโทษจำคุกถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ไม่ใช่วันที่ 22 หรือ 20 สิงหาคม ตามที่เข้าใจกัน
เพราะสิ่งที่สังคมรับรู้ก็คือ อดีตนายกฯได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1 ปี และนายทักษิณเริ่มรับโทษ เข้าเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 จึงน่าจะครบ 1 ปี ในวันที่ 20 หรือ 22 สิงหาคม 2567 (ขึ้นกับเป็นปี อธิกะสุรทิน หรือไม่ ถ้าใช่ จะนับ 1 ปี เท่ากับ 366 วัน แต่ถ้าไม่ใช่ จะนับ 1 ปีเท่ากับ 365 วัน)
ปรากฏว่าสิ่งที่สังคมเข้าใจนั้น คลาดเคลื่อนทั้งหมด ดังนั้นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ การพระราชทานอภัยโทษ เป็นพระราชอำนาจโดยเฉพาะของ “พระมหากษัตริย์” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติอยู่ในมาตรา 179
“มาตรา 179 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ”
การพระราชทานอภัยโทษ มีทั้งกรณีทั่วไป และกรณีพิเศษ
กรณีทั่วไป จะตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ในวาระมหามงคลต่างๆ ซึ่งแต่ละฉบับจะบัญญัติเอาไว้ชัดเจนในพระราชกฤษฎีกา หลังระบุเงื่อนไขการลดโทษของผู้ต้องโทษแต่ระดับ ว่า วิธีการนับโทษที่เหลือ หรือต้องรับต่อไป หรือนับโทษที่ได้รับการพระราชทานอภัย...
“ให้นับโทษจำคุกนั้นตั้งแต่วันที่ต้องรับโทษ เว้นแต่กรณีที่จะต้องนับโทษต่อจากคดีอื่น ให้นับโทษ ต่อจากคดีอื่น”
กรณีนี้คือการนับโทษจำคุก ตั้งแต่วันที่เริ่มรับโทษ กรณี "อดีตนายกฯทักษิณ" คือนับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ตามที่สังคมเข้าใจกัน
แต่กรณีของ "อดีตนายกฯทักษิณ" เป็นการพระราชทานอภัยลดโทษเป็นกรณีพิเศษ ในพระราชหัตถเลขาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
"จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา…”
ความหมายก็คือ รับโทษต่ออีก 1 ปี นับจากวันที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษนี้ คือ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดังนั้น “อดีตนายกฯทักษิณ” จึงต้องรับโทษถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567
เรื่องนี้ไม่ได้บัญญัติในกฎหมายใด เพราะเป็น “พระราชอำนาจ” โดยสมบูรณ์