svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผุด"ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย"ร่อนจม.เปิดผนึก ร่วมหนุนประชามติรธน.

"ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย" ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงประธานสภา ประธานสว. กกต. และทุกภาคส่วน ประกาศหนุนการมีส่วนร่วมออกเสียงประชามติ เปิดไทมไลน์ การแก้ไขรธน.ฉบับประชาชน

26 กรกฎาคม 2567  "ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย"  ได้ทำจดหมายเปิดผนึก ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ประธานวุฒิสภาประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ตัวแทนภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป  เรื่อง การมีส่วนร่วมสนับสนุนการออกเสียงประชามติของภาคส่วนต่าง ๆ

 

หนังสือ ระบุว่า  ด้วยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 และคาดหมายว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่สองและสาม ในสมัยประชุมสามัญระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 – 30 ตุลาคม 2567 และโดยที่กระบวนการประชามติเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง นั้น

 

"ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย" (ภรป.)  ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานระหว่างนักการเมืองจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ที่สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสมาชิก (สสร.) มาจากการเลือกตั้ง จึงมีข้อเสนอในเรื่องการมีส่วนร่วมสนับสนุนการออกเสียงประชามติของภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1) ขอให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้มีเวทีและการประชุมที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำกฏหมายประชามติอย่างกว้างขวาง

 

2) ขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... พิจารณา ดังนี้

 

2.1 พิจารณาดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเวลา เพื่อให้สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในสมัยของสภาผู้แทนราษฏรชุดปัจจุบัน โดยเคารพหลักการสำคัญ คือ การผ่านประชามติต้องการเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ และต้องมีผู้มาใช้สิทธิอย่างน้อย 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตรา 214 วรรคหก

 

ผุด\"ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย\"ร่อนจม.เปิดผนึก ร่วมหนุนประชามติรธน.

2.2 เพื่อประกันความเท่าเทียมกันทางโอกาสของทุกฝ่าย ควรบัญญัติให้คณะกรรมการ การเลือกตั้งและหน่วยงานของรัฐ สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน และกลุ่มต่าง ๆ สามารถแสดง ความคิดเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการตอบคำถามประชามติ และรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการชุมนุมในที่สาธารณะได้

2.3 เพื่อประกันความสุจริตและเที่ยงธรรม ควรบัญญัติให้มีอาสาสมัครสังเกตการณ์ การออกเสียงประชามติ โดยผู้สังเกตการณ์ในระดับชาติและนานาชาติสามารถสังเกตการณ์อย่างกว้างขวางตลอดทั้งกระบวนการ และเข้าถึงสถานที่ทุกแห่งที่เกี่ยวกับการดำเนินการออกเสียงประชามติ ยกเว้นสถานที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งขอสงวนไว้โดยมีเหตุผลประกอบ

 

ผุด\"ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย\"ร่อนจม.เปิดผนึก ร่วมหนุนประชามติรธน.

 

3) ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งออกระเบียบและเตรียมการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการออกเสียงประชามติโดยไม่ชักช้า

 

4) ขอให้วุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้วเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนมีเวลาพอสมควรแก่การพิจารณาหลักการและเหตุผลในการตอบคำถามประชามติ โดยเฉพาะในครั้งแรกที่คาดว่าจะมีขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จภายในอายุของสภาผู้แทนราษฎร ชุดปัจจุบัน

 

5) ขอให้ภาคประชาสังคมและพรรคการเมืองจัดให้มีพื้นที่การแลกเปลี่ยนความเห็นและการรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญอย่างเสรี โดยให้มั่นใจว่ามีการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ครอบคลุมหลากหลายกลุ่ม ทั้งในมิติเพศสภาพ เชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา ภาษา อายุ ความพิการ และจัดเตรียมอาสาสมัครเพื่อการสังเกตการณ์กระบวนการประชามติรัฐธรรมนูญ ตลอดจนรณรงค์ส่งเสริมการไปใช้สิทธิ

 

6) ขอให้ประชาชนทั่วไปได้ติดตามกระบวนการประชามติรัฐธรรมนูญโดยใกล้ชิด และเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสู่สังคมประชาธิปไตยที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน