svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กมธ.เกษตรฯ แนะ DSI รับ 'คางดำ' เป็นคดีพิเศษสาวต้นตอระบาด

กมธ.เกษตรฯ ชงรัฐดันปัญหา “คางดำ” เป็นวาระชาติ - แนะ DSI รับเป็นคดีพิเศษสาวต้นตอระบาด – เสนอต้องแก้กฎหมายเพิ่มโทษ-รับผิดชอบเยียวยา

นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และการประกอบอาชีพของชาวประมง โดยมีผู้แทนอธิบดีกรมประมง ผู้แทนอธิบดีกรมการค้าภายใน, ผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย, ผู้แทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และตัวแทนกรรมการประมงประจังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมการประชุม

กมธ.เกษตรฯ แนะ DSI รับ \'คางดำ\' เป็นคดีพิเศษสาวต้นตอระบาด การประชุม กมธ.เกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร

โดย คณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะให้รัฐนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อน และผลักดันให้ปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เป็นวาระแห่งชาติโดยเร็ว และการกำจัดการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ จะต้องมีแผนการดำเนินงานเป็นขั้นตอนชัดเจน ทั้งในช่วงเวลา และพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน รวมทั้งเสนอให้มีการผ่อนผัน ให้ใช้เครื่องมือประมงบางประเภท ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถนำมาใช้เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำได้หมดสิ้น

กมธ.เกษตรฯ แนะ DSI รับ \'คางดำ\' เป็นคดีพิเศษสาวต้นตอระบาด

ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรฯ ยังมองว่า มาตรการแก้ไขปัญหาในเร่งด่วนด้วยการรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 15 บาท จำนวน 2 เดือนนั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วน โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแปรรูปปลาหมอคางดำ เพื่อแปรรูปปลาหมอฯ ที่รัฐบาลรับซื้อ และกระทรวงเกษตรฯ ต้องประสานความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อรับเป็นคดีพิเศษในการสืบหาข้อเท็จจริง เอาผิด และดำเนินคดีกับผู้ที่เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำโดยเร็ว รวมถึงกรมประมง ต้องเร่งเพิ่มจุดรับซื้อในจังหวัดที่ยังไม่มีจุดรับซื้อ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งจังหวัดที่เป็นพื้นที่เขตกันชน เช่น จังหวัดจับทบุรี เพื่อลดการแพร่ระบาดลงสู่ทะเล

 

ประธานคณะกรรมาธิการเกษตร ยังเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาตรา 15 และมาตรา 144 เพื่อใช้กฎหมาย เป็นกลไกในการป้องกัน และควบคุมให้มีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต และที่สำคัญจะต้องมีบทลงโทษที่รุนแรง สำหรับผู้ที่เป็นต้นเหตุแห่งการแพร่ระบาด และต้องรับผิดชอบการชดเชยความเสียหาย และฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรฯ ยังย้ำว่า กรมประมง จะต้องเร่งควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว และต้องป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด รวมถึงสร้างความร่วมมือกับองค์กรในท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน และ อสม.ในการช่วยกันยับยั้งการแพร่ระบาด