svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนประวัติ "เหลิม ดาวเทียม" ไม่ชอบทหาร แต่เข้าบ้านป่าฯ

ย้อนประวัติ "เหลิม ดาวเทียม" ไม่ชอบทหาร แต่เข้าชายคาบ้านป่าฯ สะท้อนสัจธรรมการเมืองที่ว่า "ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร" ของจริง

21 กรกฎาคม 2567 จากท่าทีของ "อาเหลิม" ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง หรือ "เหลิม บางบอน" เคยปราศรัยและให้สัมภาษณ์ถล่ม "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ "พี่น้อง 3ป." เอาไว้ แต่วันนี้กลับไหลเข้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มี "ลุงป้อม" นั่งเป็นหัวหน้าพรรค สะท้อนสัจธรรมการเมืองที่ว่า "ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร" ของจริง

เพราะจะว่าไปแล้ว "อาเหลิม" ไม่ชอบทหาร และเคยเกือบเอาชีวิตไม่รอดเพราะทหารมาแล้ว โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่ต้องพาครอบครัวระหกระเหินออกจากประเทศไทย ไปลี้ภัยอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ค ช่วงที่รัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ถูก รสช. คือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 

ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง (แฟ้มภาพ)
ยุคนั้น ร้อยตำรวจเอก เฉลิม ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล อสมท. ขณะนั้นมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ชื่อว่า องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย 

บทบาทของ "อาเหลิม" ไม่ใช่แค่กำกับดูแล แต่เข้าไปแทรกแซงล้วงลูก ควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อในสังกัด อสมท. และว่ากันว่านำรถถ่ายทอดสดโทรทัศน์ ไปจอดลักลอบดักฟังข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะทหาร จนเป็นที่มาของฉายา "เหลิม ดาวเทียม" สร้างความไม่พอใจให้กับ "บิ๊กสุ" พลเอกสุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ.ในขณะนั้น จนมีการส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล พลเอกชาติชาย ให้ปลด ร้อยตำรวจเอก เฉลิม ออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

นี่คือสาเหตุหนึ่งของการยึดอำนาจโดยคณะนายทหาร รสช. ผสมผสานกับเหตุผล "รัฐบาลโกงกิน หรือ บุฟเฟต์ คาบิเนต" และ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม จึงเป็นศัตรูหมายเลข 1 ที่คณะ รสช.สั่งไล่ล่า และถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ถูกยึดทรัพย์ 32 ล้านบาท ต้องทิ้งบ้าน พาครอบครัวลงเรือหนีไปกัมพูชา และเดินทางต่อไปเดนมาร์ค ลี้ภัยอยู่นานกว่าจะได้กลับบ้าน

ครั้งนั้นเจ้าตัวถึงขั้นประกาศว่าจะเลิกเล่นการเมือง แต่สุดท้ายก็ไม่ทำตามที่พูด แถมปั้น "ลูกวัน" หรืออดีต วันเฉลิม อยู่บำรุง ลูกชายคนกลาง มาลง สส.เขตแทนตนอีกด้วย 

จากความหลังครั้งเก่า ทำให้ "อาเหลิม" ไม่ชอบทหาร และไม่กล้าเสี่ยงกับการปฏิวัติรัฐประหาร เรียกว่า "รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง" ตลอด ทั้งๆ ที่ชีวิตราชการของตนเอง เริ่มจากการเป็นทหาร มียศ "สิบโท" สังกัดกองพันทหารสารวัตร หรือ สห. มณฑลทหารบกที่ 11 

ต่อมาโอนย้ายมาเป็นตำรวจ จนได้ยศ "ร้อยตำรวจเอก" สังกัดกองปราบปราม มีผลงานจับกุมคดีดังหลายคดี ก่อนจะหันเหชีวิต ลงเล่นการเมืองครั้งแรกสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 

ด้วยลีลาโวหารไม่แพ้ คุณสมัคร สุนทรเวช นักการเมืองนักพูด-นักปราศรัยชื่อดังในยุคนั้น ทำให้ "อาเหลิม" เติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นนักการเมืองชื่อดังของกรุงเทพฯ แยกฝั่งกันกับคุณสมัคร มีฉายาว่า "ขุนศึกฝั่งธนฯ กับขุนพลกรุงเทพฯ" โดย ขุนศึกฝั่งธนฯ หมายถึงคุณเฉลิม เพราะมีฐาน สส.อยู่ฝั่งธนบุรี ส่วนขุนพลกรุงเทพฯ คือ คุณสมัคร เพราะเป็น สส.ผูกขาดที่เขต 1 ดุสิต 

"อาเหลิม" เล่นการเมืองไม่นานก็ได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอกชาติชาย แต่ก็ไปออกอาการล้ำเส้น ดักฟังการประชุมของกองทัพ จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการปฏิวัติ ต้องหนีไปตกระกำลำบากในต่างแดน 

"อาเหลิม" เคยตั้งพรรคมวลชน เป็นหัวหน้าพรรคเอง กระทั่งมาร่วมงานกับพรรคชินวัตร 

และด้วยสไตล์ "อยู่กับใครก็ให้ใจคนนั้น" เจ้าตัวเคยอภิปรายปกป้อง อดีตนายกฯทักษิณ ที่ถูกรัฐประหารเหมือนตัวเอง และโดนคดี "ที่ดินรัชดาฯ" โดยใช้วาทกรรมว่า "อดีตนายกฯทักษิณ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม" ถือเป็นวาทกรรมอันลือลั่นของดอกเตอร์กฎหมายจากรามคำแหง ที่สร้างกระแสวิจารณ์ยาวนานข้ามปี จนสื่อมวลชนสายสภา ให้ฉายา "ดาวดับ"

เข้าพลังประชารัฐ เดินเกมรุกฆาตเพื่อไทย

ด้วยนิสัย "อยู่กับใครก็ให้ใจคนนั้น" ทำให้การหันหัวเรือจากเพื่อไทย เข้าชายคา "บ้านป่ารอยต่อฯ" พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ "ลุงป้อม" จึงน่าจับเป็นพิเศษว่า งานนี้เป็น "เกมสมประโยชน์" ระหว่างสองฝ่ายใช่หรือไม่  

ฝั่งอาเหลิม

แม้ไม่ชอบทหาร แต่นาทีนี้ ด้วยวัย และกำลังวังชา รวมถึงพลังการเมืองที่ไม่ส่งต่อถึงรุ่นลูกและหลาน ทำให้หาทางไปลำบาก จะมีพรรคไหนต้อนรับ ถ้าไม่ใช่พรรคของลุงใจถึงพึ่งได้ อย่าง "ลุงป้อม" 

พรรคลุงป้อม อยู่ในภาวะ "เงียบสนิท" แทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ทั้ง "แอร์วอร์ - กราวด์วอร์" คือสื่อโซเชียลฯ สื่อกระแสหลักก็แทบไม่มีข่าว กิจกรรมระดับพื้นที่ก็แทบไม่มีให้เห็น มีแต่ข่าว "ผู้กองธรรมนัส" ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่คอการเมืองก็เริ่มสับสนว่า อยู่พรรคเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐกันแน่ 

ย้อนประวัติ \"เหลิม ดาวเทียม\" ไม่ชอบทหาร แต่เข้าบ้านป่าฯ ฉะนั้นการได้ "อาเหลิม" ไปร่วมงาน รวมถึง "อดีต สส.วัน" ซึ่งมีพื้นที่ทางสื่อสังคมออนไลน์อยู่บ้าง น่าจะทำให้ "พ่อ-ลูกอยู่บำรุง" ได้มีซีน มีบทบาท มีพื้นที่สื่อให้เล่น ไม่เหมือนช่วงอยู่กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งห่างไกลศูนย์อำนาจ

หาก "อาเหลิม" จะดันลูกชายลง สส. กทม. สมัยหน้า คงไม่มีใครแย่ง และ "ลุงป้อม" น่าจะไฟเขียว แถมทรัพยากรให้อีกตุงกระเป๋า (หมายถึงทรัพยากรที่ใช้ในการเลือกตั้ง เช่น โปสเตอร์ ป้าย และน้ำมันรถ) ตามสไตล์​ "ลุงป้อมจัดให้" 

พูดง่ายๆ คือมีพื้นที่ทางการเมืองแน่นอน ส่วนจะประสบความสำเร็จ ได้เป็น สส.หรือไม่ เป็นอีกเรื่่อง 
ย้อนประวัติ \"เหลิม ดาวเทียม\" ไม่ชอบทหาร แต่เข้าบ้านป่าฯ
ฝั่งลุงในป่า

พรรคพลังประชารัฐเงียบสนิทมานานอย่างที่บอก ฉะนั้นการได้ "สองพ่อลูกอยู่บำรุง" ไปร่วมงาน น่าจะเพิ่มสีสันและเพิ่มพื้นที่ข่าวสารให้กับพรรคพลังประชารัฐได้พอสมควร 

ที่สำคัญ กลุ่มแฟนคลับ "อาเหลิม" และ "อดีต สส.วัน" ก็ไม่ถึงกับ "คนละขั้ว" กับแฟนๆ พลังประชารัฐ หรือแฟนคลับ "ลุงป้อม" ฉะนั้นจึงพอจะหนุนเสริมกันได้ 

ย้อนประวัติ \"เหลิม ดาวเทียม\" ไม่ชอบทหาร แต่เข้าบ้านป่าฯ
ผลประโยชน์ร่วม

จับมือขย่มเพื่อไทย เพราะ "ลุงในป่า" น่าจะเก็บความคับข้องใจที่อดีตนายกฯทักษิณ โยนระเบิดใส่ตรงๆ เมื่อครั้งลงพื้นที่ปทุมธานี กล่าวหา "บ้านในป่า" อยู่เบื้องหลังกดรีโมทให้ 40 สว.ยื่นสอยนายกฯ 

งานนี้เมื่อได้ "อาเหลิม" มาร่วมพรรค ย่อมมีกระบอกเสียงคอย "จัดให้" และ "โต้แทน" เพราะจะหวังพึ่ง "ผู้กอง" ก็ไม่รู้ว่าอยู่ พปชร.แค่ร่างกาย แต่ใจอยู่อีกพรรคหรือไม่ 

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี "อาเหลิม" ก็คงแค้นอดีตนายกฯทักษิณ และพรรคเพื่อไทยไม่น้อย เพราะมองว่าไม่ให้เกียรติกัน งานนี้ก็น่าจะมีจังหวะสวนกลับงามๆ ได้หลายดอก แล้วแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย แถมช่วงที่ผ่านมา เพื่อไทยเองก็พลาดบ่อย ไม่เว้นแม้ นายใหญ่ นายน้อย ก็พลอยพร้อมใจกันพลาด จึงมีโอกาสถูกถล่มจาก "เหลิม ดาวเทียม" 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ที่สำคัญ หากสุดท้าย "นายกฯ เศรษฐา" ถูกสอย หลัง "พรรคก้าวไกล" ถูกยุบ การเมืองอาจกระเพื่อมแรง การได้ "ขุนพลรุ่นลายคราม" อย่าง "อาเหลิม" ไปร่วมงานและอ่านเกม ย่อมตอบรับกับสถานการณ์ฝุ่นตลบมากกว่า แถมยังเหมือนมีฝ่ายค้านนอกสภา คอยเดินเกมบ่อนเซาะเครดิตพรรคเพื่อไทย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ต้องไม่ลืมว่า ขณะนี้ "3 พรรคอนุรักษ์นิยม" จับมือกันหลวมๆ เดินเกมเพิ่มอำนาจต่อรองกับพรรคเพื่อไทยอยู่ ประกอบด้วย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ 

สถานะของทั้ง 3 พรรคเป็น "พรรคร่วมรัฐบาล" การจะเดินเกมค้านอะไรตรงๆ ย่อมเสียมารยาท แต่การมี "อาเหลิม" และ "อดีต สส.วัน" เป็นขุนพลคนสำคัญ ย่อมเคลื่อนเกม "ค้านนอกสภา" ได้สนุกกว่า แถมมีแฟนคลับคอยเชียร์

งานนี้ถ้าเพื่อไทยไม่รีบเคลียร์ รับรองมีเหนื่อย...