svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"คุณหญิงหน่อย-สุรเกียรติ์" แนะรัฐมุ่งพัฒนาคนให้ทันโลกยุคใหม่

24 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศศินทร์ฯ จัดเสวนารับมือยุคดิสรัป ''คุณหญิงหน่อย'' แนะรัฐเร่งรื้อโครงสร้างภายใน-พัฒนาคนรองรับลงทุน สร้าง GDP ยั่งยืน ขณะที่ ''สุรเกียรติ์'' เตือนทุกภาคส่วนรับมือผลกระทบเศรษฐกิจจากภูมิรัฐศาสตร์ กระตุก รบ. ยกเครื่องการศึกษาไทย ให้ประชาชนทันโลกยุคใหม่

24 เมษายน 2567 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ''The Next Chapter: เจาะลึกบทใหม่ ของโลกในเดิม'' ค้นหาทางออกของภาคธุรกิจในการรับมือ Disruption 3 ประเภท ทั้ง เทคโนโลยี, สังคมสูงอายุ และสภาพแวดล้อม ที่ทุกองค์กรไม่เตรียมพร้อมไม่ได้ 

โดย "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ประธานหลักสูตร Mission We ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรจะต้องแก้ไขโครงสร้างของประเทศ ที่ยังมีปัญหาก่อน ทั้งการศึกษา สังคมสูงอายุ อัตราการเกิดน้อย ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งจะกระทบต่อ GDP ของประเทศโดยตรง

 

"ซึ่งถ้าเปรียบเทียบเวียดนาม กัมพูชาแล้ว สามารถสร้าง GDP ได้ 6% แต่ของไทยกลับต่ำสุดในอาเซียน เพียง 2% กว่า ๆ และปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น จะเป็นปัญหาใหญ่ กระทบต่อสภาพแวดล้อมไทย เช่น ทะเลตรังที่เกิดปะการังฟอกขาว และปลาทะเลจะลงไปอยู่ในน้ำลึกมาขึ้น ทำให้การจับปลาได้น้อยลง แนวปะการังจะลดลง และทำให้เกิดภัยแล้งหนัก และน้ำท่วมอย่างรุนแรง เช่น เหตุการณ์อุทกภัยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว 

หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวต่อว่า ดังนั้น ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และการเชิญนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุน แต่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาภายในประเทศ จึงเชื่อว่าการลงทุนใหม่จะเกิดน้อย แต่ก็ยังได้ประโยชน์จากภูมิศาสตร์ทางการเมือง ที่ทำให้นักลงทุนมาลงทุนในเอเชียเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ไทยอาจจะไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย ที่มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศมากกว่าไทย ดังนั้น หากไทยยังแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า หรือ การแจกเงิน, การพักหนี้ แต่ไม่เลือกแก้โครงสร้างประชากรสูงวัย ปัญหาการศึกษา ปัญหาเทคโนโลยี หรือสภาพภูมิอากาศ ก็ยากที่จะทำให้ประเทศไทย สามารถสร้าง GDP ที่ยั่งยืนได้ 

ขณะเดียวกัน เห็นว่ารัฐบาลควรพัฒนาคน ซึ่งใช้งบประมาณน้อย แต่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศได้ทุกด้าน เช่น ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย ก็จะต้องช่วยให้ผู้สูงอายุแข็งแรง และมีงานทำ ผ่านการ Re-Skill, Up-Skill และ New Skill เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้ และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

ส่วนคนวัยกลางคนที่มีฐานะ ก็จะต้องส่งเสริมให้มีบุตร ส่วนคนที่มีฐานะยากจน ก็จะต้องมีสวัสดิการดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์จนคลอดออกมาถึง 6 ขวบ รวมถึงการนำเข้าพนักงาน และแรงงานที่มีฝีมือ เพื่อดึงดูดคนมีฝีมือเข้ามาทำงาน กระบวนการขอวีซ่าและการขอในอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานต่างประเทศ จะต้องสะดวกขึ้น เพื่อให้พนักงานและแรงงาน สามารถทำงานได้ในระยะยาว มีสวัสดิการรองรับ โดยเชื่อว่าหากรัฐบาลมีการลงทุนในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง 3 ปี ก็จะเห็นผล 

ด้าน "นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.ต่างประเทศ เห็นว่า สงครามสมัยใหม่ และสงครามตามรูปแบบ หรือ Conventional Wars เกิดขึ้นพร้อมกัน และส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งไกลประเทศไทย และใกล้ประเทศไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนในไทยจะต้องเตรียมตัว อย่างเช่นสถานการณ์ในเมียนมา กลายเป็นเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง หรือ GEO Politics ไปแล้ว เพราะไม่ใช่แค่ปัญหาภายในเมียนมาเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะจีนก็เข้ามามีบทบาท แทรกแซงรัฐทางเหนือของเมียนมา ที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันกับจีน ซึ่งในอดีตรัฐบาลไทย ประสานรัฐบาลเมียนมา อาจจะได้ แต่ปัจจุบัน อาจจะต้องประสานกับหลายกลุ่มในเมียนมา ที่มีหลากหลาย ดังนั้น จึงเชื่อว่า สงครามแบบใหม่ และสงครามตามรูปแบบ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ มีความเชื่อมโยงกัน

 

"เพราะส่งผลกระทบทางศรษฐกิจ เช่น เหตุการณ์ในเมียนมา ก็กระทบต่อการค้าขายแดนแม่สอด ทำให้นักธุรกิจต้องหาช่องทางการขนส่ง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย และคาดว่าสถานการณ์ จะยังยืดเยื้อไปอีกนาน และจะส่งผลกระทบต่อไทย ทั้งจำนวนผู้ลี้ภัย, อาวุธที่ข้ามฝั่งมา, ปัญหายาเสพติด หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ ที่หลายประเทศประกาศ Sanction รัสเซีย ก็ส่งผลกรทบต่อราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งหากไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้เงินไหลออก และค่าเงินอ่อน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานไทยด้วย" อดีตรองนายกฯ ระบุ 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาการศึกษาไทย หลักสูตรยังติดปัญหาเชิงโครงสร้าง บริหารด้วยกฎหมาย รัฐบาลจึงควรใช้งบประมาณ หรือแบ่งมาจากงบประมาณ 560,000 ล้านบาท (โครงการดิจิทัลวอลเล็ต) ประมาณ 100,000 ล้านบาท มายกเครื่องการเรียนรู้ของประชาชนให้เพิ่มทักษะได้ เพื่อให้ประชาชน

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ทันโลกในยุค Disruption ไม่จำเป็นจะต้องเรียนให้ครบ 4 ปี แล้วเรียนจบเริ่มทำงาน แต่อาจจะปรับเปลี่ยน เช่น เรียน 1 ปี และไปทำงาน 2 ปี หรือเมื่อกลับมาเรียนแล้ว สามารถนำหน่วยกิตย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยอื่นได้ เป็นต้น เพื่อไม่ให้ประเทศไทยรั้งท้ายอาเซียน พร้อมเห็นว่า ผู้นำรัฐบาล จะต้องวัดสัญญาณในอนาคตให้ได้ เพื่อให้ภาคเอกชนได้เตรียมตัว และวางแผนการบริหาร

 

logoline