svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดแผนรับมือสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ทบ.เตรียมการไว้วางอย่างไร

22 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดแผนรับมือสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ของกองทัพบกไทย เตรียมการไว้อย่างไรบ้าง ทั้งในด้านกำลังพล การดูแลผู้หนีภัยสงคราม และหากที่สุดทหารเมียนมาแพ้ ประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไร

22 เมษายน 2567 ความคืบหน้าสถานการณ์ความไม่สงบ จากการสู้รบในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับชายแดนจังหวัดตากของไทย ที่การสู้รบระหว่างทหารของรัฐบาลทหารเมียนมา กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะนี้ยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่อเค้าทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น 

ล่าสุด มีรายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมา กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา อย่างต่อเนื่อง บริเวณ บ.เยปู่ อ.เมียวดี ในพื้นที่ตอนในฝั่งเมียนมา ห่างจากชายแดนไทย ระยะทางประมาณ 2 - 3 กิโลเมตร ใกล้พื้นที่ สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 ด้านตรงข้าม บ.วังตะเคียนใต้ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก จนส่งผลให้ด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ต้องปิดทำการชั่วคราว
เปิดแผนรับมือสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ทบ.เตรียมการไว้วางอย่างไร
 

สำหรับการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญของกองทัพบก โดยศูนย์สั่งการชายแดนไทย - เมียนมา จังหวัดตาก การดูแลด้านมนุษยธรรม แก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ที่เดินทางเข้ามายังฝั่งไทย ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว จังหวัดตาก จำนวน 6 พื้นที่ จำนวน 3,027 คน คือ ท่าทรายรุจิรา, สำนักสงฆ์วังข่า, บ้านวังตะเคียนใต้, ท่าข้ามที่ 33 และ ท่าข้ามที่ 35 บ.วังตะเคียน ม.7 อ.แม่สอด และ บ.หนองหลวง อ.อุ้มผาง จ.ตาก
ผู้อพยพจากฝั่งเมียนมา

การเพิ่มเติมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา ตลอด 24 ชั่วโมง ตามแผนเผชิญเหตุของกองกำลังป้องกันชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่ "หน่วยเฉพาะกิจราชมนู" กองกำลังนเรศวร ด้านจังหวัดตาก แนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา
เปิดแผนรับมือสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ทบ.เตรียมการไว้วางอย่างไร
 

ส่วนแนวทางการปฏิบัติกรณีประชาชน ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.)  หรือผู้ที่มีการบาดเจ็บ เข้ามายังฝั่งไทย ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก ฉก.ราชมนู กกล.นเรศวร และ อ.แม่สอด ได้เตรียมพื้นที่รองรับ ผภสม. ชาวต่างชาติ และราษฎรไทย ในขั้นต้นไว้ คือ

ในพื้นที่รองรับชาวต่างชาติ ณ โรงแรม ภูอินทร์ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ,พื้นที่รองรับราษฎรไทย ณ, สนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน และ ม.ราชภัฏกำแพงเพชร (สาขาแม่สอด) ต.แม่ปะ และโรงเรียนแม่ตาว ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ,พื้นที่รองรับ ผภสม. ปัจจุบัน จัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 5 พื้นที่ คือ ท่าทรายรุจิรา, สำนักสงฆ์วังข่า, บ.วังตะเคียนใต้, ท่าข้ามที่ 33 และ ท่าข้ามที่ 35 บ.วังตะเคียน
เปิดแผนรับมือสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ทบ.เตรียมการไว้วางอย่างไร

สำหรับผู้ที่มีการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือฝ่ายใด หากถูกส่งตัวมาเข้ารับการรักษาพยาบาล ยังฝั่งไทย ทางการไทยต้องให้การรักษาพยาบาล ตามหลักสิทธิมนุษยชน ตามปกติ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา แม้ว่าจะทำให้ทางการไทย ต้องสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก ในการรักษาพยาบาล และเป็นการเพิ่มภาระบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ได้มีการเตรียม การสนับสนุนเพิ่มเติมไว้แล้ว

กรณีทหารเมียนมา เข้ามายังฝั่งไทย แนวทางการปฏิบัติ ลำดับแรก กกล.ป้องกันชายแดน จะดำเนินการปลดอาวุธทหารเมียนมา ที่ข้ามแดนเข้ามา จากนั้นจะดำเนินการตรวจสอบ คัดกรอง ตามหลักสากลและแนวทางที่ กองทัพบก ยึดถือและปฏิบัติมา หลังจากนั้น จะนำทหารเมียนมาเข้าพื้นที่รองรับที่จัดเตรียมไว้ โดยจะให้ ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมพื้นฐานในขั้นต้น

ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว จะดำเนินการส่งกลับ ทหารเมียนมา (โดยความสมัครใจ) ให้กับทางการเมียนมา ต่อไป สำหรับพื้นที่รองรับที่จัดเตรียมไว้ แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ดังนี้ 

  • ทหารเมียนมา ประเภทนายทหารสัญญาบัตร จัดพื้นที่รองรับไว้ ณ "หน่วยเฉพาะกิจราชมนู" กองกำลังนเรศวร  ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก
  • ทหารเมียนมา ประเภทนายทหารประทวน จัดพื้นที่รองรับไว้ ที่ร้อย.ตชด.346 กกล.นเรศวร ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก

"หน่วยเฉพาะกิจราชมนู" กองกำลังนเรศวร  ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก

หากเป็นกรณี ทหารเมียนมาสู้รบปะทะกับ ชกน./กตต. และล้ำเข้ามายังฝั่งไทย กรณีมีการสู้รบล้ำเข้ามาในเขตไทย เช่น มีเครื่องบินรบ/เฮลิคอปเตอร์/อากาศยานไร้คนขับ ทิ้งระเบิด หรือมีกระสุนตกเข้ามายังฝั่งไทย แนวทางการปฏิบัติ ทาง "หน่วยเฉพาะกิจราชมนู" กองกำลังนเรศวร ได้วางกำลังตลอดแนวด้านตรงข้าม พื้นที่การสู้รบ ซึ่งสามารถส่งสัญญาณ หรือป้องปราม/ป้องกันการปฏิบัติการดังกล่าว จากเบาไปหาหนักได้ เช่น การยิงกระสุนควันเพื่อแจ้งเตือน เป็นต้น

โดยสถานการณ์ ปัจจุบัน มีเพียงกระสุนปืนขนาดเล็ก (ปลย. เช่น AK – 47) ตกมายังฝั่งไทย ทำให้ทรัพย์สินของราษฎรไทย ได้รับความเสียหายเล็กน้อย เช่น บ้านเรือน และรถยนต์ แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต โดยทางการไทยจะมีมาตรการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสมต่อไป
เปิดแผนรับมือสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ทบ.เตรียมการไว้วางอย่างไร

สำหรับการประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น (เพื่อติดตามผลกระทบต่อไทย) ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับไทยโดยตรง ไม่ว่าจะมีผลกระทบด้านการค้าชายแดน ศุลกากรแม่สอด สามารถจัดเก็บภาษี ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เข้ารัฐได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยมีการค้าขายชายแดนระหว่างผู้ประกอบการชาวไทยกับผู้ประกอบการชาวเมียนมา ปีละหลายแสนล้านบาท และไทย ได้เปรียบดุลการค้าปีละแสนกว่าล้านบาท นับว่าเป็นช่องทางการค้าชายแดนระหว่างประเทศด้านเมียนมา ที่ทำรายได้สูงสุดของไทย ดังนั้น การปิดด่านพรมแดนฯ จึงไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย

ส่วนกรณีที่กองกำลังชนกลุ่มน้อย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา สามารถยึดครองพื้นที่ ได้แบบเบ็ดเสร็จ ไทยอาจจะต้องปิดด่านพรมแดนฯ หลายแห่ง เนื่องจากฝั่งเมียนมา ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติงานประจำอยู่ เช่น ตำรวจ ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ต่อไปได้
ด่านพรมแดนฯ ไทยเมียนมา

สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับไทยในอนาคต อาจทำให้มีผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ชาวเมียนมาลักลอบเข้ามายังฝั่งไทยเพิ่มมากขึ้น และอาจหลบหนีเข้าไปทำงานในพื้นที่ชั้นในของไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสาธารณสุข เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม กองทัพบก และหน่วยงานในพื้นที่ ได้ร่วมกันเตรียมการและซักซ้อมการปฏิบัติ ในการรองรับสถานการณ์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ก็ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ด้วยการเฝ้าตรวจและวางกำลังป้องกันตามแนวชายแดน ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

พร้อมทั้งได้ประเมินสถานการณ์ และได้ประสานการปฏิบัติร่วมกัน ระหว่าง กองกำลังป้องกันชายแดนของกองทัพบก กับหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาอธิปไตย และปกป้องความปลอดภัยของพี่น้องคนไทย โดยถือเป็นความสำคัญสูงสุด และขอให้ประชาชนชาวไทยมั่นใจว่า กองทัพจะไม่ยอมให้มีการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยเด็ดขาด
เปิดแผนรับมือสถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ทบ.เตรียมการไว้วางอย่างไร
 

logoline