svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ตอกฝาโลง! แจก "เงินหมื่นดิจิทัล" รายงาน ป.ป.ช. ชี้ชัดส่อขัดรัฐธรรมนูญ

เปิดรายงานป.ป.ช.ตอกฝาโลงเพื่อไทย ชี้ชัดส่อกระทำการขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา แนะรัฐปรับเงื่อนไขแจกกลุ่มเปราะบางตามมาตรวัดเส้นความยากจน

16 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ทาง ป.ป.ช. ได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต  เพื่อเสนอต่อที่ประชุม จำนวน 177 หน้า

หลังจากก่อนหน้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติรับทราบรายงานของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital wallet แล้ว 

พบ "แจกหมื่นดิจิทัล" เสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย

โดยสาระสำคัญ ของข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. จากข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลดังกล่าวพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณาหลายประเด็นด้วยกัน เช่น ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย กรณีพรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายตอนหาเสียงว่าจะแจกเงินให้แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน คนละ 10,000 บาท จำนวน 56 ล้านคน เป็นเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยแสดงแหล่งที่มาจาก กกต.ว่ามาจาก 4 แหล่ง โดยการบริหารงบประมาณ ไม่ได้มาจากการกู้เงินแต่อย่างใด ซึ่ง กกต.ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวโดยนำเงินจากงบประมาณ สามารถกระทำได้

แต่ต่อมาเมื่อจัดตั้งรัฐบาลในคราวแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เงื่อนไขในการแจกเงินเปลี่ยนไป โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 1 หมื่นบาทให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปที่รายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน มีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยคาดว่ามีผู้ได้รับสิทธิ 50 ล้านคน แหล่งที่มาของเงินเปลี่ยนไป โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท อ้างเหตุวิกฤตเศรษฐกิจเพื่อการออก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ

ตอกฝาโลง! แจก \"เงินหมื่นดิจิทัล\" รายงาน ป.ป.ช. ชี้ชัดส่อขัดรัฐธรรมนูญ

เห็นได้ว่าการเสนอนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้ง กับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีความแตกต่างและจนถึงบัดนี้การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวไม่มีความชัดเจน หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการยังไม่ปรากฏว่าเป็นหน่วยงานใด เป็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เป็นการหาเสียงที่ไม่มีความพร้อม ไม่ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอย่างรอบคอบ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และกฎหมายว่า นโยบายดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร

จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ และอาจเป็นกรณีตัวอย่างของการหาเสียง ที่มีลักษณะสัญญาว่าจะให้ อาจขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 มาตรา 73 (1) หรือมาตรา 136 วรรคหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงกรณีความเสี่ยงต่อผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของโครงการ ที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการกำหนดเงื่อนไขในการขึ้นเงินของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อาจจะมีความเสี่ยงในการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องศึกษา วิเคราะห์ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง หรือบุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมกับต้องมีขั้นตอน วิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนให้โครงการฯ สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

ตอกฝาโลง! แจก \"เงินหมื่นดิจิทัล\" รายงาน ป.ป.ช. ชี้ชัดส่อขัดรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ที่เห็นว่า การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็นเพียงใด ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชน ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ตามนิยามวิกฤตเศรษฐกิจของธนาคารโลก การจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า

เสี่ยงผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

ขณะเดียวกันมีประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพราะการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 71 และ 75 นอกจากนี้ยังต้องรักษามาตรฐานด้านวินัยการเงินการคลัง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ด้วย ขณะเดียวกันการกู้เงินนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ มีการบัญญัติไว้ตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561

ตอกฝาโลง! แจก \"เงินหมื่นดิจิทัล\" รายงาน ป.ป.ช. ชี้ชัดส่อขัดรัฐธรรมนูญ

ธปท.ชี้ เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าขั้นวิกฤต

ทั้งนี้จากข้อมูลประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ได้ผลสรุปชัดเจนแล้วว่าสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤต และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทย โดยมีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ในระยะปานกลาง ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ในปี 2567 และ 2568 มีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น โดยคาดว่าปี 2568 กรณีไม่รวมโครงการ ขยายตัวร้อยละ 3.1 กรณีรวมโครงการขยายตัวร้อยละ 2.8 ประกอบกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียว จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และต่อเนื่องที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไข

ดังนั้นหากรัฐบาลจะดำเนินการตรา พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงควรได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะมีความเสี่ยงที่จะผิดเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 ดังนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และดำเนินการภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เป็นการขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมาย

เลขากฤษฎีกา แนะรัฐบาลฟังความเห็น ป.ป.ช

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตอบรัฐบาลให้รับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงาน เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในที่นี้รวมถึงผลการศึกษาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยหรือไม่ ว่า ตนยังไม่เห็น แต่ใครเสนออะไรมาก็ควรจะฟังเพื่อประกอบการพิจารณา จะได้รอบคอบแค่นั้นเองไม่มีอะไร

ส่วนการรับฟังความเห็นจะต้องรับฟังจากหน่วยงานใดเป็นหลักหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจก็มีหน่วยงาน เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อถามต่อว่าหน่วยงานอื่นก็เป็นการรับฟังความเห็น รับฟังไว้เฉยๆได้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า จริงๆแล้วหลักคือการรับฟังความคิดเห็นนำมาประกอบการตัดสินใจ ไม่ได้มีอะไร ได้ข้อมูลมาก็เอามาประกอบการตัดสินใจได้ละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

ส่วนความเห็นของ ป.ป.ช. จะมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหนนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นอะไรเลย แต่ก็ควรจะรับฟัง ในแง่ที่ ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระ เมื่อมีข้อสังเกตก็ควรเอามาประกอบการพิจารณา

ส่วนกระแสข่าวไม่ต่ออายุ นายปกรณ์ เป็นเลขากฤษฎีกาอีกนั้น นายปกรณ์ ยิ้มให้พร้อมกล่าวว่า ไม่มี ตนไม่รู้

ด้าน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีเอกสารที่มีการเผยแพร่ว่า เป็นความเห็นของ ป.ป.ช. ที่เตือนคณะรัฐมนตรีว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ใช่ความเห็นของ ป.ป.ช. และไม่ทราบว่ามาจากหน่วยงานใด หรือเป็นความเห็นของคณะทำงานที่รวบรวมความเห็นเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่หรือไม่ 

แต่หากเป็นความเห็นของ ป.ป.ช. จะต้องผ่านมติของกรรมการฯ เท่านั้น ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการยังไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องรอคณะกรรมการแต่ละคนส่งความเห็นสรุปกลับมา ก่อนจะมีมติและส่งความเห็นกลับมาให้รัฐบาล


อ้างอิง : https://thestandard.co/niwatchai-digital-wallet-opinion-document/