svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ศาลแพ่ง" เตรียมพิพากษาคดี คฝ. ยิง "กระสุนยาง" ใส่สื่อทำข่าวม็อบ

"ศาลแพ่ง" เตรียมอ่านคำพิพากษา คดีขอให้ ตร. ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีตำรวจ คฝ. ยิง "กระสุนยาง" ใส่สื่อจนได้รับบาดเจ็บ ระหว่างลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุม

25 กันยายน 2566 มีรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (26 ก.ย.) เวลา 09.00 น. ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก องค์คณะผู้พิพากษาของศาลแพ่ง เตรียมอ่านคำตัดสิน ในคดีหมายเลขดำที่ พ3683/2564 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 712 กรณีที่นักข่าวและช่างภาพ จากสื่อมวลชน 2 สำนัก ฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในความผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

หลังจากถูกตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ยิงกระสุนยางเข้าใส่จนบาดเจ็บ ระหว่างลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุมสาธารณะบริเวณถนนราชดำเนินและแยกนางเลิ้ง เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64 หรือที่เรียกกันว่า “คดีกระสุนยาง” รวมเป็นเงินกว่า 1.4 ล้านบาท 

โดยคดีนี้ นอกจากการฟ้องเรียกให้ สตช. ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ยังมีการขอให้ศาล กำหนดมาตรการควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้ระมัดระวังการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน 
เหตุการณ์สลายการชุมนุม 18 ก.ค. 64
 

ทั้งนี้ ศาลแพ่งมี “คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว” ในวันที่ 10 ส.ค. 64 สั่งให้จำเลย คือ สตช. “ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของโจทก์และสื่อมวลชน ภายใต้หลักเกณฑ์ และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน” อันเป็นคำสั่งที่ทำให้ ผบ.ตร. ช่วงเวลานั้น ต้องสั่งการกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สลายการชุมนุมอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน
ร่องรอยบาดแผลของสื่อมวลชนจากการถูกยิงด้วยกระสุนยาง

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เมื่อเกิดเหตุตำรวจ คฝ. เข้าสลายการชุมนุม กลุ่มราษฎรหยุด APEC2022 บริเวณถนนดินสอ ในวันที่ 18 พ.ย. 65 อย่างรุนแรง จนทำให้สื่อมวลชนอย่างน้อย 4 รายได้รับบาดเจ็บ ศาลแพ่งก็รับคำขอให้เรียกตัวแทน ตร. มาไต่สวนว่า ได้ละเมิด “คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว” จากคดีกระสุนยางหรือไม่

แม้สุดท้ายจะไม่ได้เรียกบุคคลมาไต่สวน โดยให้ส่งเอกสารมาชี้แจงแทน แต่ศาลก็ระบุว่า สื่อมวลชนที่ได้รับความเสียหาย จากเหตุสลายการณ์ชุมนุมกรณีสลายการชุมนุม ของ กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 สามารถใช้สิทธิทางแพ่ง หรือทางอาญาแยกเป็นคดีใหม่ต่างหากได้
ร่องรอยบาดแผลของสื่อมวลชนจากการถูกยิงด้วยกระสุนยาง  

สำหรับการนัดอ่านคำพิพากษา “คดีกระสุนยาง” ของศาลแพ่งครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังการนัดไต่สวนพยาน ทั้งฝ่ายโจทก์ จำนวน 14 ปาก ระหว่างวันที่ 19 - 21 ก.ค. 66 และฝ่ายจำเลย จำนวน 8 ปาก ระหว่างวันที่ 25 - 26 ก.ค. 66 กรณีการใช้กระสุนยางของตำรวจ คฝ. เพื่อควบคุมการชุมนุมสาธารณะ ระหว่างปี 63 - 65

ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า อาจไม่เป็นไปตามหลักสากล และไม่เป็นไปตามคู่มือการปฏิบัติงานของ สตช. เอง ที่กำหนดไว้ว่า การใช้กระสุนยาง ให้ยิงต่อเป้าหมายที่มีท่าทีคุกคามชีวิตบุคคลอื่น ไม่ใช้การยิงอัตโนมัติ และต้องเล็งยิงให้กระทบส่วนล่างของเป้าหมาย
เหตุการณ์สลายการชุมนุม 18 ก.ค. 64
เหตุการณ์สลายการชุมนุม 18 ก.ค. 64
เหตุการณ์สลายการชุมนุม 18 ก.ค. 64
เหตุการณ์สลายการชุมนุม 18 ก.ค. 64
เหตุการณ์สลายการชุมนุม 18 ก.ค. 64