21 กันยายน 2566 "นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ รมช.คลัง ตอบกระทู้ถามของ "นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล" สส.เลย พรรคเพื่อไทย ถึงความคืบหน้าตามติดตามทรัพย์สินของประชาชน ที่ถูก บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ทุจริตหลอกลวง รวมถึงการเอาผิดผู้บริหารบริษัทฯ ดังกล่าว โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่ง "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง และสั่งการให้ติดตาม ตรวจสอบ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และปิดช่องโหว่ในตลาดการลงทุน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ได้ติดตาม ตรวจสอบ และบูรณาการร่วมกับกรมสอสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อย่างใกล้ชิด เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ โดยมีการอายัดเงินผู้เกี่ยวข้องกับความผิดแล้ว และ กลต.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารบริษัทฯ ดังกล่าว ต่อดีเอสไอแล้ว 10 ราย ฐานการทุจริตตบแต่งงบการเงิน เปิดเผยข้อมูลการเสนอขายต่อตลาดหลักทรัพย์อันเป็นเท็จ และหลอกลวง โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาแล้ว
อย่างไรก็ตาม โดยศาลมีคำสั่งห้ามผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องออกนอกประเทศ และประสานกับดีเอสไออย่างต่อเนื่อง เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องคดีต่อศาลเพื่อลงโทษโดยเร็ว และยังมีการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดอื่น ๆ มากกว่า 10 รายดังกล่าว โดยจะหาหนทางแก้ไข และติดตามตรวจสอบให้ครอบคลุม
ส่วนแนวทางของรัฐบาลในการปราบปรามป้องกัน แก้ไขระเบียบการออกหุ้นกู้ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนปลอดภัยนั้น ซึ่งขั้นตอนการอายัดทรัพย์ผู้กระทำผิดนั้น มีช่องโหว่จริง เนื่องจาก ตามกฎหมายบัญญัติจะต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ และต้องขอหมายศาล เพราะเป็นการอายัดทั้งหมดไม่เฉพาะส่วน หรือบัญชี ซึ่งหากไม่มีความรอบคอบ ก็อาจไปกระทบต่อความเชื่อมั่น และศักยภาพการดำเนินธุรกิจของกิจการนั้น ๆ ได้
ทั้งนี้ แต่เมื่อมีเหตุการทุจริตในกรณีดังกล่าวแล้ว ทุกฝ่ายได้เร่งดำเนินการอายัดทรัพย์เร็วที่สุด แต่ขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานให้เห็นเชิงประจักษ์ ก็เป็นไปอย่างล่าช้า จนมีการขึ้นเครื่องหมาย SP ในการซื้อขายหลักทรัพย์ เนื่องจากไม่ส่งงบการเงิน เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว ถึงจะมีการอายัดทรัพย์จริงในทางปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงการคลัง และ กลต.อยู่ระหว่างการพูดคุยถึงการปรับปรุงกระบวนการให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพราะมีกรณีลักษณะดังกล่าวต่าง ๆ เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า โดยจะมีการรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สอบบัญชีในตลาดลงทุน เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้อำนาจ กลต.ในการดำเนินการกรณีที่ผู้สอบบัญชีที่ไม่ดำเนินการไปตามที่กำหนด และเพิ่มบทบัญญัติเพิ่มโทษทางปกครอง และบรรจุโทษปรับเป็นพินัย เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังศึกษาแก้ไขร่างกฎหมาย ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เและส่งให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป