22 สิงหาคม 2566 นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ลุกขึ้นอภิปรายเป็นรายแรกถึงคุณสมบัติของ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ว่า สว. ต้องเลือกนายเศรษฐา ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้มีการเสนอชื่อมากว่าหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งก็พยายามติดตามว่า นายเศรษฐา ทำอะไร ที่ไหน มีประวัติอย่างไร อีกทั้งได้สอบถามเพื่อนสว. ด้วยกันว่ารู้จักนายเศรษฐาหรือไม่ บางคนก็รู้จักว่าเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นเจ้าของหมู่บ้านจัดสรร แต่ตัวตนที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีประวัติอย่างไร ส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบ และทุกคนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นคนดีหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปคลุกคลี จึงเกิดคำถามแรกว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯ เรายังไม่รู้จักว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี ทำธุรกิจดีหรือไม่ดี สามารถนำพาประเทศไปได้หรือไม่ เราไม่รู้จักแล้วจะเลือกอย่างไร
เมื่อถามพรรคพวกสว.ส่วนใหญ่ ก็ไม่รู้จัก และมีคำถามในใจทุกคน เพราะตำแหน่งนี้มีความสำคัญ ประเทศจะเจริญต่อไปได้มันอยู่ที่นายกฯ เพราะหลังจากนี้ต้องไปสร้างทีมบริหารรัฐบาล แล้วเราก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ทางพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทำเอกสารให้รับทราบว่าเขาเป็นใคร ประวัติเป็นอย่างไร เราพยายามติดตามข่าวจากสื่อก็เจอแต่ด้านลบตลอด เช่น การใช้วิธีเลี่ยงภาษีทำธุรกิจไม่ถูกต้อง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ผิดจริยธรรม มีเอกสารออกมาเยอะแยะ ก็ไม่รู้ว่าเอกสารที่ยื่นมาถูกต้องหรือไม่ ส่วนบริษัทแสนสิริก็ยื่นเอกสารมาโต้ตอบ แต่ไม่เคยออกมาชี้แจงให้ สว. หรือส่งให้ สว. ทราบ
“เวลา สว. จะเลือกนายกฯ ก็เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าผู้ที่จะถูกเลือก ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ต้องมีจริยธรรมเป็นเลิศ แต่นายเศรษฐาถูกโจมตีตลอด ทำการค้าไม่ถูกต้อง เลี่ยงภาษีบ้างอะไรบ้าง เราพยายามหาข้อมูลว่าเป็นจริงหรือไม่ หรือแค่ถูกกล่าวหา หรือเป็นคนดี แต่พวกเราไม่ทราบจริงๆ แล้วจะไปเลือกได้อย่างไร จะเอาประเทศมาเสี่ยง เลือกคนๆหนึ่งที่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรมาปกครองประเทศ เอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน เอาเศรษฐกิจ เอาประเทศชาติ เอาความเจริญมาเป็นประกัน แม้แต่สถาบันมาเป็นประกันหรือ
ผมฟังแล้วมีความรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง แต่ในฐานะที่เราต้องเลือก ก็ต้องหาข้อมูล เมื่อไปตามเอกสารมาได้หลายชิ้น พบว่านายเศรษฐาถูกกล่าวหาการซื้อที่จากบุคคล 12 คนเพื่อทำธุรกิจ เอกสารที่เขาแอบอ้างขึ้นมาเป็นอย่างไร และนายชูวิทย์ก็มาแฉว่าแบ่งที่ดินเป็น 12 ส่วน เพื่อเลี่ยงภาษีในนามคณะบุคคล แต่ถ้าเป็นการเสียภาษีในนามบุคคลแล้วจะเสียภาษีน้อยลง ต้นทุนในการซื้อขายของแสนสิริถูกลง เราก็ไปดูข้อกฎหมาย เรื่องภาษีอากร ขอสรุปคร่าวๆว่า มีการซื้อขายจริงกับแสนสิริกับประไพทรัพย์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้น 12 ราย ในที่ดินแปลงเดียว มีการตกลงซื้อขายกว่า 1,500 ล้านบาท ต้องถามว่า เจตนาเพื่ออะไร เพราะถ้าซื้อเป็นรายบุคคล ฐานภาษีจะลดลง ผมก็ติดตามว่าทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ เพราะการคำนวณภาษีก็ต่ำลงไปด้วย” นายวิวรรธน์ กล่าว
ระหว่างนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานในที่ประชุม ได้กล่าวเตือนเรื่องการใช้เวลาเกินกำหนด นายวิวรรธน์ จึงบอกว่า ถ้ามันเกินบ้างขาดบ้าง ก็เชื่อว่ามี สว. บางคนจะสละเวลาให้ แต่ไม่เกินเวลาที่กำหนดแน่นอน ขออนุญาตประธานด้วย
นายวิวรรธน์ กล่าวต่อว่า เมื่อตรวจสอบแล้ว 12 คนได้เข้าไปถือหุ้นตามสัดส่วน ซึ่งเป็นเรื่องของตัวบุคคล จากนั้นแสนสิริก็มาซื้อที่ดินแปลงนี้ ทางบริษัทมีรายงานการประชุม และคนที่เซ็นในรายงานการประชุมคือนายเศรษฐา ซึ่งตอนนั้นเป็นซีอีโอหรือกรรมการบริษัท ต้องการซื้อที่ 12 คน ซื้อคนละวัน เจตนาเพื่ออะไร เพราะเวลาคิดภาษีทีละแปลง ราคาก็น้อยลง จากที่ตกลงซื้อกันในราคากว่า 1,570 ล้านบาท แต่เมื่อแยกแปลงออกไป เสียภาษีเพียง 59 ล้านบาท ซึ่งถ้าแสนสิริตรงไปตรงมา ซื้อที่ดินแปลงทั้งแปลงโดยไม่ได้แยกส่วนแบบนี้ จะเสียภาษีที่ดินอยู่ที่ 580 ล้านบาท เท่ากับหายไป 500 กว่าล้านบาท แทนที่เงินนี้จะเข้าหลวง
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแบบนี้แล้ว นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เป็นเรื่องการวางแผนภาษีของทางบริษัท ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าการวางแผนภาษีบริษัททำให้รัฐเสียหาย แทนที่จะได้รับภาษี แต่กลับเสียภาษี มันไม่ใช่แล้ว จึงตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นการเลี่ยงภาษีทำให้รัฐเสียหายหรือไม่
“เรื่องนี้ชัดเจนมีพยานหลักฐานอยู่ ดังนั้นการเลือกนายกฯ ครั้งนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประเทศชาติจะเจริญได้ต้องเลือกคนซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรม ผมเชื่อว่าสว.ทุกคนในที่นี้ มีสิทธิ์เลือก มีจริยธรรมทุกคน ถ้ารู้ข้อเท็จจริงแบบนี้เขาพิจารณาได้ว่าจะเลือกหรือไม่ แล้วอย่าลืมว่า เวลาที่ให้คำปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์ในการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพราะผมได้ยินข่าวไม่ดีว่า มีการแจกกล้วยให้สว. ขอพูดตรงๆว่า เป็นคนดีๆไม่ชอบ อยากจะเป็นลิง อยากจะไปกินกล้วยชาวบ้านเขา ผมว่าผิดคำสาบาน ต่อไปจะโดนลงโทษ” นายวิวรรธน์ กล่าว
ด้านนายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ อภิปรายคุณสมบัติ นายเศรษฐา ว่า ยังไม่มีความรู้จัก นายเศษฐา มากพอว่าเป็นใครมาจากไหนมีครอบครัวหรือไม่
ทั้งนี้ อยากสอบถามเกี่ยวกับเงินดิจิทัล Wallet 5 แสนล้านบาท ว่ามีที่มาอย่างไรเป็นงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งสามถึงสี่ปีที่ผ่านมาติดลบจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งหากไปยืมเงินก้อนนี้มาอย่างไร หรือว่าจะตกเป็นภาระของลูกหลานในอนาคต รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเรื่องที่ดิน เหล่านี้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งตนอยากจะฟังวิสัยทัศน์หรือให้มาชี้แจงต่อสภาฯก็ได้
อย่างไรก็ตามตนอยากให้เกิดรัฐบาลโดยเร็ว และอยากได้คำตอบว่า นายเศรษฐา จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร เพื่อจะได้นำข้อมูลไปชี้แจงและต่อประชาชนให้ได้