svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐบาลใหม่ควรฟัง! เสียงสะท้อนจาก "100 CEO"

รัฐบาลใหม่ควรฟัง! เสียงสะท้อนจาก "100 CEO" ต้องการใครเข้ามาบริหาร ปัญหาเร่งด่วนคือไรและควรส่งเสริมธุรกิจอย่างไร

31 กรกฎาคม 2566 “กรุงเทพธุรกิจ” ในเครือเนชั่นกรุ๊ป ได้จัดทำโพล CEO Survey กรุงเทพธุรกิจ สำรวจ 100 ซีอีโอ จากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก ไอทีดิจิทัล ภาคบริการ เอสเอ็มอี สตาร์ตอัปฯ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ ทางออกของประเทศควรเป็นอย่างไรเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจบอบช้ำไปมากกว่านี้

โดยสำรวจความเห็นนักธุรกิจ ซีอีโอ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างระหว่างวันอังคารที่ 25-30 ก.ค.2566 ผ่านแบบสำรวจออนไลน์พบว่า

ตั้งรัฐบาลให้เร็ว โดยเพื่อไทยและเศรษฐา เป็นนายกฯ 

อยากให้ตั้งรัฐบาลโดยเร็ว โดยซีอีโอ 60.2 % อยากให้ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล รองลงมา คือ พรรคก้าวไกล 25.5% ขณะที่ ซีอีโอเกินครึ่ง 66.3% อยากให้ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกรัฐมนตรี รองลงมาเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล 9.5% และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร 8.4%

แก้ปัญหาเศรษฐกิจและปรับปรุงกฎหมาย

ทั้งนี้ ซีอีโอ ต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว และหากได้รัฐบาลใหม่ “นโยบาย" ที่ต้องทำทันที ซีอีโอเห็นตรงกันเกือบ 90% คือ แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ รองลงมา 59% ปรับปรุงกฎหมายด้านเศรษฐกิจให้ทันสมัย รองลงมา 52% บอกว่าควรดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ 42% อยากให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง พัฒนาท่าเรือน้ำลึก รวมถึงต้องเร่งแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมทั้งรับมือปมภูมิรัฐศาสตร์

สนับสนุนเอสเอ็มอี สตาร์ตอัป

อย่างไรก็ตาม มีซีอีโอส่วนหนึ่ง เห็นว่า รัฐบาลใหม่ควรมีแนวทางในการสนับสนุนเอสเอ็มอี สตาร์ตอัป และหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) ให้ความสำคัญเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร สร้างให้ประเทศไทย กลายเป็นฮับ Health & Wellness ของโลก

ขณะที่ บางส่วน มองว่า ภาครัฐควรปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน ให้สอดคล้องกกับการทำงานของภาคเอกชน และหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น มี ซีอีโอ ราว 30% ระบุว่ารัฐบาลใหม่ควร “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ด้วย

การเมืองลากยาวเศรษฐกิจทรุด

การสำรวจครั้งนี้ ซีอีโอ ส่วนใหญ่ มองว่า หากการเมืองลากยาว ไม่ชัดเจนจะกระทบเศรษฐกิจมากถึงมากที่สุด โดยซีอีโอ 41% มองว่า หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อจะกระทบเศรษฐกิจ "มาก" ขณะที่ 38% มองว่า จะกระทบเศรษฐกิจ "มากที่สุด" โดยส่วนใหญ่ ​มองว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศลดลง และประเทศจะไร้ความต่อเนื่องการขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจ รองลงมา จะกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2567 และการลงทุนเมกะโปรเจคชะงัก

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ ธุรกิจยังมองถึงการรับมือสถานการณ์ที่ยืดเยื้อเอาไว้ด้วย โดยส่วนใหญ่จะ wait & see รองลงมา คือ ชะลอการลงทุน ขณะที่ ซีอีโอบางส่วน ระบุว่า สถานการณ์แบบนี้ควรเก็บเงินสดเอาไว้ รวมถึงอาจต้องมีการวางแผนงบประมาณ หากรัฐบาลจัดตั้งได้ล่าช้า

ปัญหาเร่งด่วนต้องรีบแก้ "หนี้ครัวเรือน"

สำหรับ “นโยบายเฉพาะด้านเศรษฐกิจ" ที่รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญ และทำอย่างเร่งด่วน ซีอีโอ 64% ให้แก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน และหนี้เสีย รองลงมา 60% มีนโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่ม ขณะที่ 58% แก้ปัญหาความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และ 54% มองว่า ให้เร่งนโยบายการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ

กรุงเทพธุรกิจโพล สำรวจความเห็น 100 ซีอีโอ ต่อการจัดตั้งรัฐบาล

ขณะที่มากกว่า 31% บอกให้เปิดตลาดการค้าต่างประเทศใหม่ๆ พร้อมรับมือความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ และเร่งนโยบายเรื่อง Sustainabilty ให้เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ความคาดหวังตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซีอีโอ เกินครึ่งอยากเห็นตัวเลข จีดีพีอยู่ในระดับ 2-3%

อย่ามัวเล่นการเมือง เน้นนโยบายจับต้องได้

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นเพิ่มเติม ของซีอีโอ ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะรัฐบาลใหม่ ย้ำอยากให้ ตั้งรัฐบาลให้ได้เร็ว อย่ามัวแต่เล่นการเมือง อยากเห็นความชัดเจน และรัฐบาลใหม่ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เน้นนโยบายเศรษฐกิจที่จับต้องได้ มีความโปร่งใส ลดการคอรัปชั่น นึกถึงประเทศชาติก่อนพรรคพวก

บูรณาการงานราชการให้สอดคล้องกับเอกชน

ที่สำคัญ ต้องบูรณาการการทำงานของหน่วยงานราชการ ให้สอดคล้องกับภาคเอกชนที่ต้องการคำตอบที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ทั้งแนะว่า รัฐบาลใหม่ควร ทบทวนโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย ปลดล็อกข้อจำกัดเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์

เร่งอนุมัติโครงการลงทุน

ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลใหม่ทำงานทันที เร่งอนุมัติโครงการการลงทุนต่างๆ ที่รออยู่ รวมทั้งทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับอียูและประเทศอื่นๆ ให้เสร็จโดยเร็ว และรัฐบาลใหม่ ควรจะตั้งทีมเศรษฐกิจ โดยดึงคนที่มีความรู้ ความสามารถจริงๆ เข้ามาแก้ปัญหา

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลใหม่ ใช้กฎหมายเคร่งครัด ปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีบริษัท และบุคคลธรรมดา ขยายฐานการเก็บภาษีให้กว้างขึ้น แก้กฎหมายองค์กรอิสระ ที่ไม่เป็นประโยชน์และขัดแย้งกฏหมายเดิม หันส่งเสริมเอสเอ็มอี ปรับปรุงกฎหมายอุดมศึกษา เข้มงวดกำกับงบประมาณของมหาวิทยาลัย และองค์กรอิสระที่ตรวจสอบไม่ได้

สานต่อนโยบายที่ดีอย่ามีอคติ

ทั้งอยากให้รัฐบาลใหม่ สานต่อนโยบายที่ดีโดยปราศจากอคติ เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบรายย่อยและสตาร์ทอัปในเรื่องกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้รายเล็กกว่าไม่เสียเปรียบภายใต้กฎเกณฑ์กติกาเดียวกัน ขณะที่มีต้นทุนที่ไม่เสียเปรียบรายที่ใหญ่กว่ามากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ ยังได้ถามความเห็นว่า 8 พรรค (312 เสียง) ควรยืนหยัด ตั้งรัฐบาล หรือไม่ โดยซีอีโอ 51.5% อยากให้ 8 พรรคเดิมร่วมจัดตั้งรัฐบาล และอีก 48.5% บอกว่า 8 พรรคการเมือง “ไม่ควร” ยืนหยัดตั้งรัฐบาล

นายกฯไม่ควรมาจากคนนอก

ขณะที่ เกือบ 70% บอกว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรมาจากคนนอก ขณะที่ซีอีโอ 31% เห็นด้วยว่า ควรหานายกฯ คนนอก หากการเมืองติดทางตัน หาทางออกไม่ได้ นอกจากนี้ ซีอีโอเกิน 80% ยัง “ไม่เห็นด้วย”ที่จะรออีก 10 เดือน เพื่อรอให้สมาชิกวุฒิสภาหมดอายุ แล้วค่อยเลือกนายกรัฐมนตรี