เพราะจากไทม์ไลน์ก่อนมาสู่มติ 8 พรรคร่วมฉบับพลัดมือ จะเห็นได้ว่า
แต่ประเด็นที่ต้องมาวิเคราะห์กันต่อ คือ เพื่อไทยจะทำอย่างไร จึงตั้งรัฐบาลได้ และไม่เสียคะแนนนิยมมาก
ดูจากมติที่ประชุมพรรคเพื่อไทย รู้ดีว่าอะไรคือปัญหา
เรื่องมาตรา 112 ยังพอแก้ไขได้ เพราะเพื่อไทยไม่ได้ออกตัวแรงมาตั้งแต่แรก และเรื่องนี้ไม่อยู่ในเอ็มโอยู 8 พรรคร่วม หนำซ้ำเพื่อไทยยังเป็นตัวจักรสำคัญ ในการเพิ่มเติมข้อความรับประกันการทำงานทางการเมืองต่อจากนี้ ไม่ให้กระทบต่อสถาบันหลักของชาติด้วย
ปัญหาใหญ่จึงเหลือข้อเดียว คือ การมีพรรคก้าวไกลอยู่ในรัฐบาล แถมยังโยงไปถึงข้อ 1 เพราะพรรคก้าวไกลไม่ยอมประกาศถอยเรื่อง มาตรา 112 บอกเพียงว่าเป็น "ข้ออ้าง" ของฝ่าย สว. และ 188 สส. ที่หยิบมาสกัดก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาล
ทว่า เหตุผลที่แท้จริง คือ การสกัดไม่ให้ก้าวไกลเข้าไปปฏิรูปกองทัพ รื้อผลประโยชน์ "เสนาพาณิชย์" หรือ ธุรกิจของกองทัพ พร้อมยกเลิกเกณฑ์ทหาร และทลายทุนผูกขาด
ตามสูตรโค่น "นายทุน ขุนศึก ศักดินา"
เมื่อประกาศจะโค่น ก็เลยโดนทั้งสามฝ่ายลงขันเล่นงาน สกัดทุกวิถีทาง ระดมทุกกลไก ทั้งรัฐธรรมนูญ 60 รวมถึง 250 สว. องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม จนกลายเป็นปรากฏการณ์ "สหบาทา" เห็นได้ชัดทั้งในและนอกสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้เอง การจะตั้งรัฐบาลภายใต้บรรยากาศประเทศที่ "นายทุน ขุนศึก ศักดินา" ยังยึดกุมกลไกหลักๆ ของประเทศอยู่ จึงต้องสลัดก้าวไกลให้พ้นวงโคจร แต่จะสลัดใช่ว่าง่าย เพราะกองเชียร์ทั่วประเทศไทยรอถล่มอยู่
แถมเป็นกองเชียร์ยุคดิจิทัล ที่หมดยุค "ประชาธิปไตย 3 นาที" มีอำนาจแค่ในคูหาเลือกตั้ง จากนั้นปล่อยมือให้พรรคการเมืองจัดการ เพราะการเมืองแบบนั้นปิดฉากไปแล้ว แต่การเมืองยุคใหม่ตามล้างตามเช็ดกันถึงการเลือกตั้งครั้งถัดไป
โจทย์ของเพื่อไทยจึงต้องใช้กลยุทธ์ "ไล่แบบเนียนๆ" แม้จะถูกจับได้ไล่ทัน แต่ต้องไม่ให้น่าเกลียดเกินไป คือ กดดันเรื่อยไปให้ฝ่ายก้าวไกลยอมพูดออกมาเอง หรือยอมเป็นส่วนน้อย ในเกม "โอน้อยออก"
ย้อนไปดูมติ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่แถลงกันเมื่อช่วงเย็นวันนี้
หาพินิจพิเคราะห์ในมติข้อ 2 จะเห็นได้ว่าเพื่อไทยยังไม่เร่งร้อนหักกับก้าวไกลเวลานี้ เพราะยังมีไทม์ไลน์ยาวจนถึงวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งเป็นวันโหวตนายกฯ รอบ 3
เพื่อไทยจึงซื้อเวลาด้วยการอ้างว่าจะไปคุยกับ "ส.ว.ตัวตึง" ก่อน แล้วจะกลับมาปรึกษากับวงประชุม 8 พรรคอีกที ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งรู้ทั้งรู้ว่าคำตอบจากวุฒิสภาคืออะไร ฉะนั้นงานนี้จึงไม่ใช่การไปคุยจริงๆ แต่เป็นการ "ซื้อเวลา"
แต่คำถาม คือ ซื้อเวลาไปเพื่ออะไร...ซื้อเวลาไปเพื่อทำให้ก้าวไกลตายใจว่า การโหวตนายกฯรอบ 3 จะเป็นนายกฯ ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ แยกกระบวนการเลือกนายกฯ ออกจากการตั้งรัฐบาลอย่างค่อนข้างเด็ดขาด เหมือนเป็นคนละขั้นตอนกัน เพราะการเลือกนายกฯ โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรกตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เป็นการเลือก "แบบพิเศษ" โดยมี สว. มาช่วยโหวต ดังนั้น กระบวนการจึงตัดตอนจากการตั้งรัฐบาลเกือบจะเด็ดขาด แม้จะมีการจับมือจัดตั้งรัฐบาลกันมาล่วงหน้าก็ตาม
ช่องว่างนี้เองที่ทำให้เพื่อไทยดึงเวลาเอาไว้ เพื่อให้ก้าวไกลโหวตให้เพื่อไทยในนาม 8 พรรค
แต่มติข้อ 4 คือ ให้สิทธิ์พรรคเพื่อไทยหาพรรคการเมืองอื่นมาร่วมโหวตเพิ่ม ซึ่งก็คือฝั่ง 188 สส. ถ้าหากฟังจากคำแถลง คือ ไปชวนมาโหวตเพิ่ม แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะตั้งรัฐบาลด้วยกัน
"หมอชลน่าน" บอกว่า ถ้ามีจริง ก็จะกลายเป็นมิติใหม่การเมืองไทย แต่ "ข้อมูลวงใน" ยืนยันว่าเพื่อไทยดีลไว้หมดแล้ว
สองพรรคแรกที่จะถูกดึงเข้า คือ "พรรค 2 ชาติ" นั่นก็คือ "ชาติพัฒนากล้า" กับ "ชาติไทยพัฒนา" แต่ชาติไทยพัฒนาเสียงแข็ง ไม่ร่วมรัฐบาลที่มีก้าวไกลอยู่ด้วย สมการนี้จึงอาจเปลี่ยนเป็นประชาธิปัตย์ ซึ่งต่อรองง่าย เพราะยังไม่มีหัว อย่างน้อยก็ได้ ส.ส.ส่วนใหญ่มา เช่น 16 จาก 25 เสียง
หากสองพรรคนี้ (พรรค 2 ชาติ หรือ 1 ชาติ 1 ปชป.) ช่วยโหวต จะได้เสียงเพิ่มมาอีก 12-18 เสียง บวกกับ สว. ที่ได้มาจากการโหวตครั้งแรก 13 เสียง รวมเป็น 25-31 เสียง ยังขาดอีก 34-40 เสียง ทำให้ต้องการเสียงเติม อีก 65 เสียง จึงจะครบ 375 เสียง โดยหัก "วันนอร์" และ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ซึ่งถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ ออกไป
โดยจำนวน 34-40 เสียง สว. สำหรับเพื่อไทย มีความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ อยู่ในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ฉะนั้น เมื่อเดินมาถึงตรงนี้ จะเหมือนเป็น "ทางสองแพร่ง"
1.เสนอชื่อ "ชัยเกษม นิติสิริ" เป็นแคนดิเดตให้โหวตในวันที่ 27 ก.ค. เผื่อเสียงไม่พอ ก็ไม่เสียหายมากนัก นี่คือสาเหตุที่เพื่อไทยไม่รีบร้อนประกาศแคนดิเดตตั้งแต่ตอนนี้ แต่ดึงไปประกาศหลังประชุมกรรมการบริหารพรรควันที่ 26 ก.ค. ก่อนโหวตแค่ 1 วัน เพื่อประเมินสถานการณ์ถึงนาทีสุดท้าย
แม้จะโหวตไม่ผ่าน แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ ประเมินเสียงสนับสนุนใหม่ได้ชัดเจน วางยุทธศาสตร์ต่อไปได้ไม่ยาก ใช้ข้ออ้างเรื่องเสียงยังเติมไม่พอ กดดันก้าวไกลให้พิจารณาตัวเอง เพราะเหตุผลชัดว่า สว. กับเสียงส่วนใหญ่ฝั่ง 188 สส. ไม่เอาก้าวไกล
พร้อมยืมมือกองเชียร์ หรือ "ด้อมส้ม" ตั้งคำถามกับก้าวไกลว่า การดึง "พรรค 2 ชาติ หรือ 1 ชาติ กับ ปชป." เข้ามา ถือว่ายอมรับได้หรือไม่ เพราะ "ด้อมส้ม" เคยสร้างกระแสต้านชาติพัฒนากล้า จนกระเด็นจากการร่วมรัฐบาลเป็นพรรคที่ 9 มาแล้ว
2.เสนอชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นแคนดิเดตให้โหวตในวันที่ 27 ก.ค. โดยมีดีลลับดึง สส. ฝั่ง 188 เสียงเข้าร่วม แต่จะไม่ดึงในนามพรรค เพราะเกือบทุกพรรคตั้งกำแพงไม่เอาก้าวไกลหมดแล้ว โดยจะดึงในนามกลุ่ม คล้ายๆ "งูเห่า"
ถ้าก้าวไกลยังไม่ยอมออก จะมีการสร้างสถานการณ์ต่อรองเก้าอี้ตอนตั้ง ครม. จนก้าวไกลไม่เหลือเก้าอี้อะไรให้ทำงาน สุดท้ายต้องถอยออกไปเอง แล้วพรรคเพื่อไทยจัดโผพรรคร่วมใหม่ และแบ่งโควตา ครม.ใหม่
ข่าวจากแกนนำ และคนใกล้ชิดแกนนำพรรคฝั่ง 188 สส. ยืนยันชัดเจนว่า หลายพรรคผ่านการพูดคุยเจรจากับเพื่อไทยมาแล้ว มีการแจ้งตัวเลขเก้าอี้กันแล้วด้วยซ้ำ
ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลข และเก้าอี้สมมติ...
พรรคเก่าแก่ แต่ร่อแร่สุดๆ - 1 ว่าการ 2 ช่วยฯ โดยเก้าอี้ รมว. หวังเล่นของสูง จองกระทรวงเกษตรฯ แต่ได้จริงอาจเป็น กระทรวง พม. ซึ่งเป็นกระทรวงที่พรรคก้าวไกลหมายมั่นปั้นมือ รวมถึงไทยสร้างไทย ที่พยายามขอแล้ว แต่ก้าวไกลไม่ให้ เนื่องจากสามารถสร้างผลงานเด่นเรื่อง "บำนาญประชาชน หรือเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน" ได้
พรรคลุง ป. รอเสียบ - 4 รมต. ทั้งว่าการ ทั้งช่วย มีกระทรวงแรงงาน คลัง (อาจเป็น รมช.) และกลาโหม
แต่อย่าลืมว่ากลาโหม เป็นเก้าอี้ที่ก้าวไกลต้องการ เพื่อเดินหน้านโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร และปฏิรูปกองทัพ แต่รัฐบาลใหม่เพื่อไทยต้องให้โควตาพรรคลุง ป. เพราะมีบารมี สกัดปฏิวัติได้
ส่วนเก้าอี้ รมว.คลัง ที่วางตัว “คุณไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล เอาไว้ จะเป็น “โควต้ากลาง” ของคนนอก / ก้าวไกลก็จะวืดอีก
พรรคเสียงเหน่อ - 1 ว่าการ เป้าหมายเดียว คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระทรวงที่ก้าวไกลหมายปอง เพราะจะเข้าไปแก้ปัญหาที่ดินทำกิน โดยเฉพาะการประกาศเขตป่า เขตอุทยาน ทับที่ประชาชน
เป้าหมายของก้าวไกล มองภารกิจเป็นหลัก จะแก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ คุมทั้งมหาดไทย เกษตรฯ และกระทรวงทรัพย์ แต่ถ้ามีพรรคร่วมเพิ่มขึ้น เก้าอี้เหล่านี้ก็ถูกเฉลี่ยออกไป เหลือแต่เก้าอี้ที่ก้าวไกลไม่ถนัด หรือทำงานไม่ได้
คำถามสุดท้าย แล้วจะอยู่ไปทำไม ต้องโบกมือลาด้วยตัวเองหรือไม่
นี่คือเกมเพื่อไทย...เขี้ยวยาวได้เปรียบ!