13 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทางเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายได้จัดกิจกรรม "ต๋ามผางปะตี้ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง" ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 13 ได้มีการเปิดพิธีที่ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี
ซึ่งงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจุดผางประทีปแทนการปล่อยโคมลอยในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อสืบสานประเพณีชาวล้านนาและส่งเสริมการสร้างความร่วมมือร่วมใจกัน ภายใต้แนวคิด "ล้านนา บูชา และแสงไฟ" เพื่อใช้เทศกาลยี่เป็งในปีนี้เป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูเมือง เพื่อการเริ่มต้นใหม่ของชาวล้านนาภายหลังเกิดอุทกภัย
ทั้งนี้ หนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็คือ การแสดงฟ้อนเทียนบูชาเมืองของช่างฟ้อนกว่า 728 คน เท่าอายุเมืองเชียงใหม่ มีอายุตั้งแต่ 4 ขวบ ถึง 80 ปี และมีขบวนแห่แบบล้านนา จากท่าแพ เข้าสู่ถนนราชดำเนิน-ถนนพระปกเกล้า และเข้าสู่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์
อีกหนึ่งไฮไลท์ก็คือการจุดผางประทีปบริเวณกำแพงเมืองรอบคูเมืองเชียงใหม่ ทั้ง 4 มุมเมือง และ 5 ประตูเมืองทั่วเมืองเชียงใหม่ นับแสนดวง ในประเพณียี่เป็ง โดยบรรยากาศทั้ง 4 แจ่งรอบกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ได้จุดผางประทีปแล้ว เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดได้มีประชาชนชาวเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติต่างพากันถ่ายรูปคู่กับแจ่งกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ถูกประดับไปด้วยผางประทีปที่สว่างไสวอย่างสวยงาม
สำหรับการจุดผางประตี๊ด ชาวล้านนาเชื่อว่า เป็นการถวายเป็นพุทธบูชาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ตามตำนานแม่กาเผือก และจุดบูชาพระรัตนตรัย รวมทั้งจุดบูชาเพื่อตอบแทนบุญคุณผู้มีพระคุณ อีกทั้งยังเป็นการบูชาแสงสว่างที่เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลดั่งแสงจากผางประตี๊ด
ขณะเดียวกันในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงานประเพณียี่เป็งหรือเทศกาลลอยกระทงภายใต้แนวคิด "มนต์เสน่ห์แม่ระมิงค์ แสงศิลป์ถิ่นวัฒนธรรม" ระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2567 เพื่อสืบสานวัฒนธรรมล้านนาอันทรงคุณค่า กระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวของเมืองหลังจากผ่านพ้นวิกฤตการณ์น้ำท่วม โดยบูรณาการการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้สัมผัสกับความงดงามของวัฒนธรรมล้านนาอันงดงามและทรงคุณค่า รักษาจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน
โดยกิจกรรมสำคัญในปีนี้ ยังคงเป็นการประกวดกระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา การแสดงแสง สี เสียง และสื่อผสมกลางลำน้ำปิง การแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ การประกวดเทพี-เทพบุตรยี่เป็งเชียงใหม่ และการตกแต่งเมืองเชียงใหม่ให้งดงามด้วยแสงไฟในยามราตรี