ชาวอินโดนีเซียหลายร้อยคนรวมตัวทำพิธีละหมาดที่มัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองบันดาอาเจะห์ จังหวัดอาเจะห์ในวันพฤหัสบดี (26 ธันวาคม) เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดในโลกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ โดยมีการเปิดไซเรนเตือนภัยทั่วเมืองนาน 3 นาทีในช่วงเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงและตามมาด้วยสึนามิยักษ์
นอกจากนี้ชาวอินโดนีเซียอีกจำนวนหนึ่งไปร่วมละหมาดและเยี่ยมหลุมศพหมู่เหยื่อสึนามิ ที่หมู่บ้านอูลี เลอู ในเมืองบันดาอาเจะห์ สุสานแห่งนี้ฝังเหยื่อสึนามิที่ไม่สามารถระบุเอกลักษณ์บุคคลและไม่มีใครมารับมากกว่า 14,000 ราย
แผ่นดินไหวที่วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 9.1 แมกนิจูด เกิดขึ้นนอกชายฝั่งเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ส่งผลให้เกิดสินามิขนาดยักษ์ซัดชายฝั่งหลายประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียไกลถึงแอฟริกาตะวันออก ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายรวม 227,898 ราย ใน 14 ประเทศ และประชาชนราว 1.7 ล้านคน ไร้ที่อยู่อาศัย
อินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และไทย ได้รับความเสียหายและเกิดการสูญเสียมากที่สุด โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิตกว่า 170,000 ราย
โครงสร้างพื้นฐานในอาเจะห์ได้รับการสร้างขึ้นใหม่ และมีความแข็งแกร่งมากกว่าก่อนเกิดสินามิ ระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้รับการติดตั้งตามชายฝั่งเพื่อแจ้งเตือนสึนามิแก่ชาวบ้าน ทำให้มีเวลาอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย
ขณะเดียวกันผู้รอดชีวิตและญาติของเหยื่อสึนามิในศรีลังกา รวมตัวกันที่หมู่บ้านชายฝั่งเปราลิยา ทางภาคใต้ของประเทศ เพื่อวางดอกไม้ไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในภัยพิบัติสึนามิ โดยศรีลังกามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 35,000 ราย ซึ่งเกือบ 2,000 ราย เสียชีวิตเมื่อรถไฟโดยสารถูกคลื่นซัด ทำให้ตู้โดยสารตกรางลงไปในบึงของหมู่บ้านเปราลิยา
นอกจากนี้ชาวอินเดียหลายร้อยคนรวมตัวที่ชายหาดมารินาในเมืองเชนไน โดยเทนมและดอกไม้ลงทะเล เพื่อรำลึกถึงเหยื่อสึนามิ โดยในอินเดียมีผู้เสียชีวิต 10,749 ราย ซึ่งเกือบ 7,000 ราย อยู่ในรัฐทมิฬนาดู
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความชะล่าใจต่อความเสี่ยงเกิดสึนามิ โดยเตือนว่า มีความเข้าใจผิดกันว่า สึนามิเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นได้ค่อนข้างบ่อย เห็นได้จากเกิดสึนามิร้ายแรง ที่ภูมิภาคโทโฮกุของญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 หรืออีก 7 ปีต่อมา แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดสึนามิประมาณ 2 ครั้งต่อปี ในระดับที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตหรือความเสียหาย
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญกำลังพยายามต่อสู้กับปัญหาการขาดเงินสนับสนุนการวิจัยเรื่องสึนามิ ในขณะที่ความเสี่ยงจากสึนามิในอนาคตอาจรุนแรงยิ่งขึ้น โดยระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้อันตรายจากสึนามิเลวร้ายยิ่งขึ้น