7 กรกฎาคม 2566 นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า ได้เข้าเยี่ยมเด็ก 35 คน จาก 126 คน ณ บ้านพักฉุกเฉินแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย จากกรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง ฐานนำเด็กต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อรับการศึกษา และเป็นเหตุที่ว่าผู้อำนวยการโรงเรียนพยายาม ขอทะเบียนนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ (G code)
แต่เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อ่างทองตรวจสอบเพราะเห็นจำนวนที่มากผิดปกติ ทำให้พบว่ามีการนำเด็กจากเมียนมาเข้ามาเรียนจำนวนมาก และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวและเตรียมผลักดันเด็กกลุ่มนี้กลับประเทศต้นทางทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางคัน
"ฟังแล้วคงคิดตามไปตามตัวกฎหมายไทยที่มีอยู่ว่าก็คงถูกต้อง คือ อันแรก พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ใครเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินคดี จับ-ดำเนินคดี-รับโทษ-ผลักดันกลับ อันนี้ง่ายครับ หากทำเช่นนี้แล้วทุกอย่าง คือ จบ ง่าย และเร็ว หากแต่ลืมไปอย่างนึง น้อง ๆ เหล่านี้ คือ เด็ก อายุ 7 - 16 ปี แถมมีเด็ก 5 ขวบที่ตามพี่มาด้วย 1 คน" นายกัณวีร์ ระบุ
นายกัณวีร์ เห็นว่า ปัญหานี้หากคิดตามกฏหมายคนเข้าเมืองก็คิดง่าย และสองหากคิดว่านี่คือ การลักลอบนำพา ก็ต้องใช้ พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ด้วย คือ ก็ต้องดำเนินคดีไปกับใครก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องในขบวนการนำพาหรือลักลอบต่าง ๆ ตามที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีและว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่ “เด็ก” เป็นเหยื่อ มิใช่อยู่ในขบวนการใด ๆ อันที่สาม MOU 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ตาม พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 หากพบเด็กกระทำผิด กม.คนเข้าเมือง ไม่ต้องดำเนินคดีใด ๆ สามารถส่งกลับได้เลยตามกระบวนการที่วางไว้
นายกัณวีร์ ระบุอีกว่า ถ้าดูตามกฎหมายที่มีอยู่ด้านตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ น่าจะส่งกลับได้ แต่ยังมี พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ครอบคลุม โดยเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เด็ก คือ เด็ก ไม่แยกแยะสัญชาติ และใน พรบ.นี้ โดยเฉพาะในหมวดและมาตราที่การคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ดังนั้น ส่วนราชการต้องสังเคราะห์สถานการณ์เรื่องผลประโยชน์สูงสุดของเด็กให้ดีว่าเด็กมีความประสงค์ในการศึกษาเล่าเรียน ไม่ได้แสวงหาประโยชน์ด้านอื่น อีกทั้งนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เรื่อง “Education for All” การศึกษาสำหรับทุกคน โดยไม่แยกแยะชาติพันธุ์ และสัญชาติ
โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองเด็กและนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เด็ก 126 คนนี้ต้องได้รับความคุ้มครองโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและเป็นไปตามนโยบายการศึกษาสำหรับทุกคน ตอนนี้เหมือนเรามีกฎหมายหลายฉบับ และเรามองไปรอบ ๆ แล้วหยิบยกกฎหมายและระเบียบปฏิบัติบางอย่างมาปรับใช้ เพื่อให้เป็นการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว และจบง่ายที่สุด แต่การแก้ไขปัญหานี้มันส่งผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะต่อเด็กมากกว่า 126 คนที่ต้องใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต
นายกัณวีร์ ย้ำว่า ปัจจุบัน เด็ก ทั้ง 126 คน ได้ออกจากระบบการศึกษาสามัญเรียบร้อย และกำลังจะถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ที่แก้ไขง่ายที่สุด คือ ส่งกลับประเทศต้นกำเนิดเมื่อติดต่อผู้ปกครอง และได้รับการตรวจสอบได้ว่าเป็นผู้ปกครองที่แท้จริง
"ง่ายนะ แต่ผมว่าไม่ถูก ไม่ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ไม่ได้ดูว่ามนุษย์เป็นทรัพยากรทางมนุษย์ที่มีคุณค่า การศึกษาเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้คนมีคุณภาพและร่วมสร้างพัฒนาโลกแห่งนี้ได้ การที่ไทยให้การศึกษาต่อเด็กไม่ว่าสัญชาติใด ตามงบประมาณและแนวทางการปฏิบัติที่มีอยู่ได้ เราควรทำ ไม่งั้นเราจะมีการขอทำทะเบียน G Code สำหรับเด็กไม่มีสัญชาติไปทำไม" นายกัณวีร์ กล่าว
นอกจากนี้ นายกัณวีร์ ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แยกให้ออก ระหว่างขบวนการลักลอบนำพา (หากมีจริง) กับ เหยื่อผู้ถูกกระทำ อะไรคือผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก การศึกษาสำหรับทุกคน ยังไม่ได้พิจารณาถึงพื้นที่ที่เด็ก ๆ กำลังจะถูกผลักดันไปยังพื้นที่ ที่จะมีสงครามระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา หลักการไม่ส่งกลับ non-refoulement ที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศในโลกต้องเคารพและปฏิบัติตาม
"ยืนยันว่าจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป พร้อมถาม หากเป็นเรา ถามจริงเถอะ จะตัดใจให้ลูก ๆ ไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อไปเรียนหนังสือได้เหรอ หากมันไม่หมดหนทางจริง ๆ ตัดใจได้มั้ยหากเป็นลูก ๆ ของเรา ที่ต้องออกจากอ้อมอกของเราทุกคน" นายกัณวีร์ ระบุ