การเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ แต่ละพรรคได้วางหมากกลอย่างซับซ้อน มีทั้งยุทธศาสตร์หลักและแผนสำรอง เพื่อให้มั่นใจว่า พรรคตัวเองจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งถ้าโฟกัสไปที่ 3 พรรคหลักที่อยู่ในกระแส ได้แก่ “พรรคเพื่อไทย” , “พรรคพลังประชารัฐ” และ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันไป ก็ต้องอาศัยชั้นเชิงเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ด้วยการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันอย่างดุดือด โดยมีเดิมพันคือการได้เป็นรัฐบาล
พรรคเพื่อไทย
สำหรับ “พรรคเพื่อไทย” ยุทธศาสตร์หลักที่วางไว้ ก็คือการแลนด์สไลด์ให้ได้ ส.ส. 250 คนขึ้นไป เพื่อให้มั่นใจว่า ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแน่ๆ แต่ก็จำเป็นต้องมี “แผนสำรอง” หรือ “แผนสอง” เตรียมไว้ เพราะถึงแม้ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด แต่หากไม่สามารถชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็มีโอกาสกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านไปอีกสมัย ซ้ำรอยการเลือกตั้งปี 2562
ซึ่งแผนสำรองของ “พรรคเพื่อไทย” ก็ไปลงล็อกกับยุทธศาสตร์ของ “พลังประชารัฐ” อย่างประจวบเหมาะ และสอดคล้องกับข่าวสะพัดดีลลับระหว่าง 2 พรรค อย่างบังเอิ๊ญบังเอิญ โดยอาศัยบารมีของ “บิ๊กป้อม” ในกลุ่ม ส.ว. จำนวนหนึ่ง ที่ยังมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ ก็มีแนวโน้มว่า เราอาจจะเห็นสูตรจัดตั้งรัฐบาล "เพื่อไทย + พลังประชารัฐ" ฯลฯ ในกรณีที่แผนแรกไม่บรรลุเป้าหมาย
หรือแม้แต่แผนแรกบรรลุผลสำเร็จ แต่สูตร "เพื่อไทย + พลังประชารัฐ" ก็ยังมีโอกาสเกิดได้ เพื่อดึงเสียง ส.ว. จำนวนหนึ่งไว้ในขั้วของตัวเอง เพราะถ้าปล่อยให้ "พลังประชารัฐ + รวมไทยสร้างชาติ" แม้ทั้งสองพรรคอาจได้ ส.ส. จำนวนไม่มาก แต่เมื่อบิ๊กป้อมกับบิ๊กตู่ผลึกกำลังกัน ก็มีแนวโน้มว่า เสียง ส.ว. เกือบทั้งหมดจะเทคะแนนมาให้ เมื่อบวกกับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กๆ ก็มีโอกาสได้เสียงสนับสนุนเกิน 375 ของทั้งสองสภา (ส.ส. และ ส.ว) ทำให้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลไปในท้ายที่สุด
บทความที่น่าสนใจ
รวมไทยสร้างตู่ สานฝันให้ประยุทธ์ เป็นนายกฯ 3 สมัยได้หรือไม่ ?
ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท กลศึกเพื่อไทย หวังแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน
พรรครวมไทยสร้างชาติ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดแข็งและจุดขายของ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ก็คือ “บิ๊กตู่” แต่ด้วยเป้าหมายที่สูงคือ ต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สานฝันการเป็นนายกฯ 3 สมัย ทั้งๆ ที่อาจได้จำนวน ส.ส. ในระดับพรรคขนาดกลาง และเมื่อพิจารณาจากอดีต ส.ส. (สอบตก) ที่เข้าสังกัด ก็ทำให้หลายคนอดกังวลไม่ได้ว่า หากได้ ส.ส. ไม่ถึง 25 คน ก็จะปิดสวิตช์การเป็นนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” ในทันที แบบหมดลุ้นเลยตั้งแต่ต้นเกม
แต่ด้วยสถานภาพในความเป็น “บิ๊กตู่” ก็ถือว่ายังเป็นผู้ได้เปรียบสูงที่สุด ซึ่งหากได้จำนวน ส.ส. ไม่ขี้เหร่เกินไปนัก และสามารถกล่อมพรรคอื่นๆ ให้เข้าเป็นพวกได้จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะ "พรรคพลังประชารัฐ" แม้จะได้ ส.ส. ไม่ถึงครึ่งของ สภา ส.ส. แต่หากได้เสียง ส.ว. เกือบทั้งหมด รวมคะแนนทั้ง 2 สภา แล้วเกิน 375 ขั้ว “รวมไทยสร้างชาติ” ก็จะกลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปในทันที
ซึ่งในกรณีที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย การบริหารประเทศก็เป็นไปอย่างยากลำบาก แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็เปิดช่องให้ดูด ส.ส. งูเห่าจากพรรคอื่นได้อย่างสะดวกง่ายดาย ทำให้โอกาสที่ “บิ๊กตู่” จะได้เป็นนายกฯ ในสมัยที่ 3 ก็ยังพอมีอยู่ แต่ก็เป็นเส้นทางที่สุดวิบาก ที่ต้องอาศัยปัจจัยและตัวช่วยต่างๆ อย่างเพียบ
พรรคพลังประชารัฐ
ต้องขอบอกว่า “พรรคพลังประชารัฐ” ในวันที่แยกทางกับ “บิ๊กตู่” ทำให้เราได้เห็นความพราวของ “บิ๊กป้อม” ที่ตีกินกระแสได้อย่างต่อเนื่อง วางหมากการเมืองได้อย่างเหนือชั้น ตั้งแต่จดหมายเปิดใจ 3 ป. Forever , ธรรมนัสคุกเข่ามอบพวงมาลัย จนถึงการตัดหน้า “บิ๊กตู่” ลงพื้นที่ราชบุรี ในวันประชุม ครม. เพื่อหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ ส.ส. ของพรรคย้ายค่ายไปอยู่ “รวมไทยสร้างชาติ”
อีกทั้งในวันเดียวกัน ยังโชว์ความพริ้ว โชว์สกิลการเมืองขั้นเทพ ประกาศนโยบายบัตรประชารัฐ เพิ่มวงเงินเป็นเดือนละ 700 บาท ซึ่งเป็นการต่อยอดนโยบายที่ประสบความสำเร็จที่สุดของรัฐบาลประยุทธ์ 1 และประยุทธ์ 2 วางหมากดักทาง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” และตีชิ่งอิงกระแสนโยบายค่าแรงขั้นต่ำฯ ของ "พรรคเพื่อไทย"
เพราะถึงแม้บัตรคนจน กับค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นคนละเรื่องกัน แต่ตัวเลข 700 ต่อ 600 ก็แสดงให้เห็นเหลี่ยมการตลาดทางการเมืองได้อย่างน่าสนใจ
เป้าหมายของ “พรรคพลังประชารัฐ” ก็คือ “ต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น” โดยประเมินตัวเองว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะได้ ส.ส. 40 – 50 คน ซึ่งถือว่ามีความเป็นไปได้ บวกกับต้นทุนบารมีในกลุ่ม ส.ว. ของ “บิ๊กป้อม” โดยใช้ยุทธวิธีที่ยืดหยุ่นแต่ทรงพลัง ด้วยการประกาศพร้อมจับมือกับทุกพรรคและทุกขั้ว ขอเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องมี “พรรคพลังประชารัฐ” อยู่ในทุกๆ สมการ