ถูกจับจ้องเป็นอย่างมาก สำหรับอีเวนต์เปิดตัวบิ๊กตู่ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในแง่ของความยิ่งใหญ่ของสถานที่ ก็ต้องขอบอกว่า สมศักดิ์ศรีนายกรัฐมนตรีไทย แต่จำนวน ส.ส. และ อดีต ส.ส. ที่มาร่วมงาน ก็ไม่ได้สร้างความเซอร์ไพรส์ให้เท่าไหร่นัก และคาดว่าน่าจะต่ำกว่าที่บิ๊กตู่กับทีมงานของพรรคประเมินกันไว้
ดังนั้นแทนที่จะเป็นอีเวนต์ที่สร้างราคา สร้างความน่าเกรงขามทางการเมือง กลับกลายเป็นการเปิดตัวที่หลายคนลงความเห็นว่า “แป้ก” เส้นทางการเป็นนายกฯ ในสมัยที่ 3 ของบิ๊กตู่จึงเข้าขั้นวิบาก อันเนื่องมาจากพลังดึงดูดทางการเมืองที่ลดลงฮวบ อย่างน่าใจหาย
แต่ด้วยการเลือกตั้งครั้งนี้ มีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญ เพราะเมื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ เลือกจุดยืนให้กับตัวเองเป็นตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว หากบิ๊กตู่ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้อีกในสมัยหน้า ก็เรียกได้ว่า อาจเข้าขั้นถึงอวสานการสืบทอดอำนาจ ที่มีการวางหมากหลายชั้นไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งถ้าจะมองให้เห็นเส้นทางของ 3 ป. ให้ชัดๆ ก็ต้องย้อนไปเมื่อเกือบ 16 ปีที่แล้ว
บทความการเมืองที่น่าสนใจ
เส้นทางอำนาจของกลุ่ม 3 ป.
ปี 2535 ความพ่ายแพ้ของรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต่อพลังของประชาชนที่ออกมาขับไล่ จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้หลังจากนั้นกองทัพแทบหมดบทบาทในการเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง เป็นเวลาร่วม 14 ปี
แต่การยึดอำนาจเมื่อปี 2549 กองทัพก็กลับมาผงาด โดยมี บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ส่วนกลุ่ม 3 ป. ซึ่งประกอบด้วย พี่ใหญ่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ , พี่รอง บิ๊กป็อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และน้องเล็ก บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีบทบาทสำคัญในการยึดอำนาจดังกล่าว ก็เติบโตอย่างกล้าแกร่งขึ้นมาในช่วงเวลานั้น
โดยในปี 2550 บิ๊กป็อกก็ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่อจากบิ๊กบัง แม้ต่อมาพรรคพลังประชาชน ที่กลายร่างมาจากไทยรักไทย จะชนะเลือกตั้งในระดับเกือบแลนด์สไลด์ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปจัดสรรอำนาจในกองทัพ
กระทั่งในปี 2551 จากการผลึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นในแนวร่วมอนุรักษ์นิยม ประสานกับการเดินหมากอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งกลุ่ม 3 ป. ก็มีบทบาทสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาล ส่งผลให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯ บารมีของกลุ่ม 3 ป. ก็เพิ่มทวียิ่งขึ้น
การสืบทอดอำนาจของกลุ่ม 3 ป. เป็นไปอย่างต่อเนื่องในกองทัพ หลังจากบิ๊กป็อกเกษียณอายุ บิ๊กตู่ น้องเล็ก ก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. แม้ต่อมาในปี 2554 พรรคเพื่อไทย ที่แปลงกายมาจากพรรคพลังประชาชน จะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ส่งผลให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย แต่ก็ยังไม่หาญกล้าเข้าไปจัดระเบียบในกองทัพ ทำให้กลุ่ม 3 ป. ก็ยังคงมีอำนาจที่เข้มแข็ง รวมถึงได้รับความเกรงอกเกรงใจจากรัฐบาล
รัฐประหาร ปี 2557 กลุ่ม 3 ป. ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดทางการเมือง
สถานการณ์นับจากปี 2549 ประเทศไทยเกิดความแตกแยกทางอุดมการณ์และความคิดอย่างชัดเจน ประชาชนแบ่งกันออกเป็น 2 ฝ่าย และกลุ่ม 3 ป. ที่ผลึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น ก็เติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าว และกลายเป็นดุลอำนาจสำคัญ ที่ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม พยายามดึงเข้ามาเป็นพวก
แต่ในการรัฐประหาร ปี 2557 กลุ่ม 3 ป. ไม่ได้วางตำแหน่งตัวเองเป็นแค่ตัวแปร เหมือนการัฐประหาร ปี 2549 กับการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในปี 2551 แล้วมอบอำนาจให้กับนักการเมือง แต่ในครั้งนี้ หลังจากล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้สำเร็จ บิ๊กตู่ก็ตัดสินใจขึ้นเป็นนายกฯ เอง ส่งผลให้ 3 ป. กลายเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ทางการเมืองนับแต่นั้นมา
การวางหมากสืบทอดอำนาจของกลุ่ม 3 ป. หลังการเลือกตั้งปี 2562
ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ของ รัฐบาล คสช. หรือประยุทธ์ 1 กลุ่ม 3 ป. กุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และผลึกกำลังกับแนวร่วมอนุรักษ์นิยม ในการวางหมากกลต่างๆ ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่มีการออกแบบเพื่อสกัดพรรคเพื่อไทย และสืบทอดอำนาจของกลุ่มได้อย่างต่อเนื่อง ผ่าน ส.ว. 250 คน ในบทเฉพาะกาล (5 ปี) ที่มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ และได้สร้างกลไกป้องกันอย่างแน่นหนา ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คนขึ้นไป จากจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 250 คน ที่รัฐบาล คสช. แต่งตั้งขึ้นมา
แต่แล้วการตัดสินใจแยกกันเดินของบิ๊กตู่กับบิ๊กป้อม ก็ทำให้เครือข่ายอนุรักษ์นิยมดั้งเดิมเสียรูปขบวน เพราะยุทธศาสตร์สำคัญของการสืบทอดอำนาจ ก็คือ “กลุ่ม 3 ป. ต้องกอดกันไว้ให้แน่น” แต่เมื่อพี่ใหญ่กับน้องเล็กเลือกที่จะอยู่กันคนละพรรค ก็เท่ากับตัดกำลัง แย่งฐานเสียงกันเอง
โดยพี่ใหญ่มีแนวทางชัดเจนแล้วว่า หลังเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคแกนนำฯ ขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็พึงพอใจแล้ว ส่วนน้องเล็กก็ยังฝันถึงการเป็นนายกฯ สมัยที่ 3 แต่เมื่อสำรวจเหล่าทีมงานที่ทำหน้าที่ผลักดัน นักวิเคราะห์หลายๆ คนก็มองว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีตัวช่วย มีปาฏิหาริย์ที่สร้างได้ แต่ครั้งนี้เห็นทีจะลำบาก เพราะแนวร่วมอนุรักษ์นิยมก็พลอยตกอยู่ในอาการมึนงงไปด้วย ไม่รู้จะเลือกป้อม หรือเลือกตู่ ทำให้สูญเสียความได้เปรียบทางการเมือง ที่มีการดีไซน์เอาไว้ก่อนหน้านี้
จึงมีแนวโน้มว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ คือ “อวสานการสืบทอดอำนาจ อย่างเป็นทางการ” และยังส่งผลให้เครือข่ายอนุรักษ์นิยมอ่อนกำลังลง เปิดช่องให้เกิดกลุ่มอำนาจใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพการเมืองแบบไทยๆ “สมบัติผลัดกันชม” นั่นเอง