11 มกราคม 2566 ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กหลังจากเกิดคำถามถึงนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ ที่พรรคเพิ่งเปิดตัวไปว่า
“แบล็กลิสต์บูโร ใครว่าไม่มีจริง ต้องอ่าน!
คำถามที่ 1 : แบล็กลิสต์ไม่มีจริง รายงานเครดิตบูโร มีเพียงประวัติชำระหนี้ของบุคคล ไม่ได้ขึ้นบัญชีบุคคลห้ามกู้สินเชื่อ
ตอบ : แบล็กลิสต์มีจริง เพราะระบบการบันทึกข้อมูลเครดิต จะคล้ายกับบันทึกประวัติอาชญากรรม โดยบริษัทข้อมูลเครดิตจะบันทึกและรายงานต่อสถาบันการเงิน ถึง “ประวัติพฤติกรรม ทั้ง 3 ปี” ไม่ใช่แค่สถานะเครดิตปัจจุบันเท่านั้น จะเห็นว่า “ความเป็นจริง” แม้คนที่จ่ายหนี้คงค้างไปแล้ว ก็ยังมีประวัติด่างพร้อยที่ยากต่อการกู้เงินได้ โดยกว่าจะกลับมากู้ได้ปกติ หรือกู้ดอกเบี้ยต่ำได้อีก ต้องใช้เวลายาวนาน คนตัวเล็กเสียเปรียบ ฟื้นตัวยาก
แม้บริษัทข้อมูลเครดิต หรือธนาคารไม่ได้ทำรายการ “บุคคลห้ามกู้” แต่การรายงานประวัติพฤติกรรมสินเชื่อทั้งชุดดังกล่าว ก็ทำให้ธนาคารมีสบช่องปฏิเสธสินเชื่อนั่นเอง
“นักรบใด ไม่เคยมีบาดแผลบ้าง?” ถ้าเอาประวัติ “เคยผิดนัด” มารายงาน มันก็คือ “แบล็กลิสต์” นั่นเอง
คำถามที่ 2 : นโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ คือการลบประวัติการชำระหนี้หรือไม่
ตอบ : นโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ ของพรรคชาติพัฒนากล้า ไม่ได้ลบประวัติการชำระหนี้ แต่จะไม่รายงานประวัติพฤติกรรมทั้ง 3 ปี ของผู้กู้ แต่จะแจ้งเฉพาะ “คะแนน” ที่สะท้อนสภาพปัจจุบันของผู้กู้ ด้วยเครื่องมือประเมินคุณภาพสินเชื่อ (Credit Scoring) ที่ใช้กันในหลายประเทศ
คำถามที่ 3 : นโยบายยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ เปลี่ยนเป็นระบบ Credit Scoring มีผลดี ผลเสียต่อระบบสินเชื่อหรือไม่ อย่างไร
ตอบ : การยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ เปลี่ยนเป็นระบบ Credit scoring ไม่มีผลเสีย แต่จะมีผลดีคือธนาคารปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น โดยมีระบบการประเมินที่เป็นสากล การใช้ระบบ Credit scoring เป็นการแจ้ง “คะแนน” ที่จะนำเอา “ข้อมูลดี” มาประกอบด้วย อาทิ รายได้ การจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ระบบการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์บนแอพพลิเคชั่นต่างๆ
ตัวอย่างที่มีให้เห็นชัดเจนคือกรณี "บังฮาซัน" สู้ชีวิต อินฟลูเอนเซอร์คนสำคัญ ขายอาหารทะเลให้ชุมชน เก็บเงินสด 30 ล้านสร้างบ้านเอง เพราะไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ เนื่องจาก “เคย” ติดหนี้บัตรอิออน สมัยที่ยังทำงานสู้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพ แต่จะมีสักกี่คนที่มีความสามารถหาเงินได้แบบนี้ โดยไม่ต้องใช้ทุนตั้งตัว
คำถามที่ 4: นโยบายที่เสนอมาดูเป็นเรื่องใหญ่มาก จะมีโอกาสให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ อย่างไร
ตอบ : นโยบายสามารถเกิดขึ้นได้ โดยการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยเฉพาะ โดยแก้ไขให้ใช้ระบบ Credit Scoring เป็นรูปแบบการจำแนกคุณภาพสินเชื่อของบุคคลตามจริง แทนที่ระบบแบล็กลิสต์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และรักษาระบบสินเชื่อให้เป็นไปตามความจริง”