svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ยธ.มอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทย จาก “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม”

“กระทรวงตาชั่ง” ประกาศมอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทย ผ่านโครงการ “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ดีเดย์ 21-22​ ธ.ค.นี้ ระดมเจ้าหนี้ทั้ง กยส. ธนาคาร เจ้าของบัตรเครดิต ลิสซิ่ง-เช่าซื้อ เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย คลายทุกข์ให้พี่น้องประชาชน

18 ธันวาคม 2567 ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม นำโดย นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดแถลงข่าวคิกออฟ “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน

 

 

ยธ.มอบของขวัญปีใหม่ให้คนไทย จาก “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม”

 

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้คนไทยทั้งในและนอกระบบ ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการอบรมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย

 

จะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า รัฐบาล และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เล็งเห็นถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ขณะนี้มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP

 

ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย หรือ NPLs (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) มีแนวโน้มสูงขึ้น รัฐบาลจึงตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ

 

จึงเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และมีนโยบายเร่งด่วนด้วยการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ

 

 

สำหรับการจัดงานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ปีที่ 2 ทางกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับกรมบังคับคดี ได้เชิญชวนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.

ตลอดจนเจ้าหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต เช่าซื้อ ลิสซิ่ง มาร่วมในโครงการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหสี้ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องชาวไทย เริ่มครั้งแรกวันที่ 21-22 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์ราชการ อาคารเอ เวลา 08.30-16.30 น.​

โดยมหกรรมแก้หนี้ฯ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้สิน และยังไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น กลุ่มหนี้ครัวเรือน กำลังจะถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง และคดีล้มละลาย ซึ่งในปัจจุบันคดีแพ่งและคดีล้มละลาย มีลูกหนี้มากกว่า 4.1 ล้านราย ทุนทรัพย์ 17.69 ล้านล้านบาท 

 

 

แบ่งเป็นคดีแพ่งที่ไม่มีการบังคับคดี จำนวน 3.2 ล้านเรื่อง อยู่ระหว่างบังคับคดีจำนวน 8.1 ล้านเรื่อง คดีล้มละลายจำนวน 53,000 เรื่อง ซึ่งจะต้องบังคับยึดอายัดและขายทอดตลาด เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา 

 

ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยหนี้จากการกู้ยืม ต้องไม่ถูกกำหนดเป็นความผิดหรือมีโทษทางอาญา และรัฐต้องมีหน้าที่คุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด สอดรับกับแผนปฎิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและหลักสิทธิมนุษยชน