7 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมประชาธิปัตย์ กทม. ลงพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายชนินทร์ รุ่งแสง ผู้สมัคร ส.ส. พร้อมด้วยอดีตผู้สมัคร ส.ก. และสมาชิกพรรค ได้พบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. วัดสุทธาวาส เขตบางกอกน้อย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำมาเป็นต้นแบบในการจัดทำนโยบายสร้างอาชีพในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งศูนย์นี้สามารถสร้างอาชีพให้คนกว่า 4,000 คนต่อปี และที่จะต้องเพิ่มเติมคือเรื่องของการตลาด โดยจะประสานให้กระทรวงพาณิชย์ เข้ามาช่วยสอนการทำตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยใช้หลักการการตลาดนำการผลิต รวมถึงอัตลักษณ์ Soft Power ส่งเสริม ดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นแหล่งขายสินค้าคุณภาพท้องถิ่น
นายจุรินทร์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงการวางตัวผู้สมัคร กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์ใน 33 เขต ว่า ขณะนี้ขาด 3 เขต เพราะยังไม่ทราบว่าสุดท้ายการแบ่งเขตเพิ่มขึ้นมาอีก 3 เขตนั้นจะอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอ กกต. เพราะการเลือกตั้งเที่ยวหน้า กทม. จะมี 33 เขต แต่ 30 เขต ประชาธิปัตย์มีผู้สมัครครบแล้ว
ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เตรียมเปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ในวันจันทร์ที่ 9 ม.ค. นี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องการเลือกตั้งมันชัดเจนในตัวมันมานานแล้ว ถ้าจะยุบสภาก็ต้องยุบก่อนวันที่ 23 มี.ค. เพราะหลังจากนั้นยุบไม่ได้แล้ว สภาหมดวาระแล้ว อันนี้ไม่มีอะไรใหม่ ประชาธิปัตย์ก็เตรียมการมาตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัคร นโยบาย ยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้งก็มีพร้อมทั้งหมด เพียงแต่ยังไม่เปิดเผยทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องที่ต้องรอระยะเวลาที่มีความเหมาะสมด้วย กรุงเทพมหานครผู้สมัครก็เกือบครบแล้ว ภาคอีสาน เมื่อวานตนได้ประชุมทีมงานภาคอีสาน มีทั้งคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช นายไชยยศ จิรเมธากร และอีกหลายท่าน และได้เคาะผู้สมัครอีสานไปอีก 90 เขต ซึ่งจะได้ทยอยเปิดตัวล็อตใหญ่ต่อไป
โดย พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากเข้าเล่นการเมืองเต็มตัวแล้ว ตนตอบไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ เนื่องจากไกลเกินกว่าที่ตนจะวิเคราะห์ได้ แต่การสังกัดพรรคการเมืองชัดเจนสถานภาพก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นคนละพรรค แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นศัตรู หรือเป็นปัญหาในการทำงานร่วมกันของรัฐบาล อันนั้นต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นไปตามกลไกระบบรัฐสภา แต่ก็ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีพรรคสังกัด จะเป็นอย่างไรตนตอบแทนไม่ได้ทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกพรรคใด
ส่วนกรณีที่ขั้วฝ่ายค้านมองว่าจะเป็นคำตอบสำหรับประเทศไทย หากขั้วรัฐบาลจะไปร่วมด้วยนั้นก็จะไม่เอา หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของนโยบายพรรคท่าน ตนไม่ไปก้าวก่าย และไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ ตนตอบแทนพรรคร่วมไม่ได้ แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนเคยตอบแล้ว และมีจุดยืนชัดเจนว่า เราต้องให้ประชาชนเป็นผู้ให้คำตอบก่อน ประชาชนคือคนแรกที่จะเป็นคนบอกว่ารัฐบาลชุดใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร ใครจะเป็นฝ่ายค้าน ใครจะเป็นรัฐบาล