svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดแผน ตำรวจไซเบอร์ ตัดวงจร "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" 4 ประเทศปราบอาชญากรรมออนไลน์

เปิดแผน "ตำรวจไซเบอร์" เดินหน้าตัดวงจร "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ประเทศไทยยกระดับร่วมมือ 4 ประเทศ ปราบอาชญากรรมออนไลน์อย่างเป็นระบบ

สถานการณ์ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ รวมทั้งปัญหา "แก๊งคอลเซ็ฯเตอร์" ยังสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาดังกล่าว ตำรวจไซเบอร์ จะกวาดล้างได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับการแก้ปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ

ล่าสุด พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์รายการ "คมชัดลึก" ทาง "เนชั่นทีวี" ในประเด็น "หวังได้แค่ไหน ตำรวจไซเบอร์ตัดวงจร แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ในฐานะที่กำกับดูแลหน่วยงานฯ คิดว่าจะทำได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ เชื่อมั่นว่า ทำได้ และน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในการปราบปราม การป้องกันให้เกิดเหตุน้อยลง  โดยขณะนี้รัฐบาลมอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี หรือ ดีอี เป็นประธานคณะกรรมการตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งมีการประชุมกันทุกเดือน
เปิดแผน ตำรวจไซเบอร์ ตัดวงจร \"แก๊งคอลเซ็นเตอร์\" 4 ประเทศปราบอาชญากรรมออนไลน์

เปิดแผนปราบ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์"

นายประเสริฐ กำลังเสนอร่าง พ.ร.ก.ฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาสาระครอบคลุมในการบังคับใช้กับสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์ว่าจะต้องมีหน้าที่อย่างไรบ้าง และต้องร่วมรับผิดชอบอย่างไร บ้างรวมถึงขยายไปถึงพวกที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนชี ตรงนี้ช่วยได้มาก

โดยเฉพาะปัจจุบัน หลังจากที่ธนาคารร่วมกับทางภาครัฐ มีการกำหนดที่จะชะลอการโอนเงิน อย่างเช่น การใช้ระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์เดิมมีการโอนเงินแบบไม่อั้น ปัจจุบันหากโอนเงินเกินกว่า 50,000 บาทต้องสแกนใบหน้า การเปิดบัญชีครั้งแรกใน 45 วันแรกต้องสแกนมีการยืนยันตัวตน ซึ่งช่วยลดปัญหาเรื่องบัญชีม้าลงไปในระดับหนึ่ง

ต่อมา พวกกลุ่มอาชญากร ได้ปรับตัว เริ่มมีการอัพเกรด จากบัญชีม้า ที่ขายบัญชีทิ้ง มาเป็น "ม้ารู้" นั่นคือ รู้ว่าขายบัญชีเสร็จ ก็ต้องไปสแกนใบหน้า ดังนั้นสแกมเซ็นเตอร์ หรือศูนย์ที่เขาจัดตั้งไว้ ตอนนี้ก็พัฒนาเป็นศูนย์โอนเงิน แต่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย คือแทนที่จะไปนั่งอยู่สแกมเซ็นเตอร์ แต่กลับแยกไปอีกตึกหนึ่งไปนั่งสแกนสำหรับวงเงินเวลาที่มีเหยื่อหลงเชื่อ โอนเงินไปในบัญชีของม้าก็จะสแกนใบหน้าโอนเงินไปจนกว่าบัญชีจะตาย ก็หยุด เป็นการพัฒนาเพื่อหลบเลี่ยง
เปิดแผน ตำรวจไซเบอร์ ตัดวงจร \"แก๊งคอลเซ็นเตอร์\" 4 ประเทศปราบอาชญากรรมออนไลน์

ดังนั้น ภาครัฐ จึงต้องร่วมกับสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้เกี่ยวข้องในแพลตฟอร์มต่างๆ ต้อง
ร่วมมือกันเพราะคนร้ายปรับวิธีการ เพราะปัจจุบันบัญชีเริ่มเดินยาก จึงไปสู่การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล หรือสินทรัพย์ทางดิจิทัล

"เราก็มีการแก้กฎหมายฉบับใหม่ ที่จะมีการดำเนินการกับการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี โดยเฉพาะการซื้อขายแบบ P2P ไม่ผ่านบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต.จะทำไม่ได้"

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ
คณะกรรมการ มี รมว.ดีอี เป็นประธาน เรามีการประชุมกันทุกเดือนเรามีการกำหนดแบบของธุรกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด 19 ข้อ ครั้งล่าสุดเสนอเพิ่มอีก 2 ข้อ โดยฝ่ายธนาคาร 1 ข้อ ฝ่ายตำรวจ 1 ข้อ ขณะนี้บังคับใช้อยู่ ถ้าการโอนหรือทำธุรกรรมทางการเงินเข้าข่ายน่าสงสัย ตรงนี้ธนาคารสามารถระงับการทำธุรกรรมไว้ชั่วคราวได้เลย
หลังจากนั้นจะส่งเรื่องต่อให้ตำรวจ

ถ้าประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อไปแจ้งความเป็นคดี ตำรวจก็จะอายัดต่อ จนกว่าจะหมดเขต ต้องสงสัย หรือจะสิ้นสุดคดีตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ก็สามารถระงับยับยั้งได้บางส่วน แต่ด้วยความทันสมัยของการโอนเงินในปัจจุบันที่ไวมาก

ความสำคัญของการที่จะได้เงินคืนหรือไม่ สำคัญระดับหนึ่งคือ ประชาชนตระหนัก หรือเริ่มรู้ตัวว่าถูกหลอกช้าหรือเร็ว ถ้ารู้ตัวทันทีโทรไปธนาคาร แล้วธนาคารเห็นว่าเข้าลักษณะต้องสงสัย ตามเคสที่คุยกันไว้ ก็จะอายัดให้ชั่วคราวเลย อย่างนี้ถือว่าเร็ว

แต่ถ้าโอนไปแล้ว 5 นาที 10 นาที ครึ่งชั่วโมงหรือวันหนึ่ง กว่าจะรู้ เงินมันเดินไวมาก ทันทีที่โอนมันเดินเลย และเดินตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ก็มีคนโอนต่อได้ทันที

ฉะนั้นเรื่องแรกคือรู้ได้ไวขนาดไหน ถ้ารู้ไว แจ้งไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ไวขนาดไหน ดังนั้นทุกครั้งที่มีโอกาส เบอร์เดียวที่ควรโทรไปก่อนคือ 1441 เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุอาชญากรรมออนไลน์ของรัฐบาล ที่มีตำรวจไซเบอร์ไปประจำอยู่ด้วย 24 ชั่วโมง จะดำเนินการอายัดบัญชีเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว ทั้งบัญชีผู้เสียหาย บัญชีปลายทางตลอดแนวเส้นเงินให้หยุด 

"ธุรกรรมทุกอย่าง ไม่ว่าเส้นนี้จะโอนไปกี่ธนาคาร หยุดหมด ฟรีซหมด ส่วนใหญ่ถ้ารู้ตัวเร็ว เงินยังค้างท่อ"

เปิดแผน ตำรวจไซเบอร์ ตัดวงจร \"แก๊งคอลเซ็นเตอร์\" 4 ประเทศปราบอาชญากรรมออนไลน์
นอกจากนี้ ตำรวจไซเบอร์ยังได้รับมอบหมาย ตามมติที่ประชุม ให้ไปคุยกับทางธนาคาร เรื่องเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการ ที่จะระงับยับยั้งไม่ให้เงินออกไปคริปโตเคอเรนซีได้รวดเร็ว ว่าจะมีวิธีการอย่างไร เราได้คุยกันแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างให้ธนาคารตกผลึกกัน และจะปฏิบัติ เนื่องจากปัญหาสแกมเซ็นเตอร์ไม่ได้หลอกแค่คนไทย แต่ยังหลอกคนชาติอื่นด้วย จึงอยากขอความร่วมมือ

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ธัชชัย ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ พูดคุยกับทางอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกและทางทูตจีน โดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุว่า เมื่อวันก่อนทางจีนก็มาพบกับท่านธัชชัยและมีการพูดคุย เพื่อยกระดับความร่วมมือประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ก็จะมีประเทศจีน เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา ไทย แต่ไทยเราไม่ได้เป็นสมาชิกในภาคีลุ่มแม่น้ำโขง เราเป็นผู้สังเกตการณ์ จึงอยากจะเสนอให้มีการนำวาระเรื่องการปราบปราม โดยเฉพาะเรื่องสแกมเซ็นเตอร์ คอลเซ็นเตอร์ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งในประเทศเราด้วย

"ต้องมาพูดคุยกัน และประสานความร่วมมือกันอย่างจริงจังและจริงใจ อยากให้มีความร่วมมือ ระดับระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค เพราะเป็นความผิดที่มีความเกี่ยวพันกับผู้กระทำความผิดหลายกลุ่มมีผู้ได้รับความเดือดร้อนได้รับผลกระทบหลายประเทศ" พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าว

ในตอนท้าย ผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์ ระบุถึงการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด ที่จะสะท้อนผลชัดเจนว่า คงต้อง
วัดเป็นตัวเลข ถ้าวัดเป็นตัวเลขลดลง แต่ก็ยังรุนแรงอยู่ เพราะหลังจากที่มีการเก็บสถิติข้อมูล เมื่อตำรวจตระหนักว่าอาชญากรรมออนไลน์เป็นอาชญากรรมหลักสำคัญ ตั้งแต่ปี 2565 ก็มีตั้งศูนย์พีซีที ตอนนั้นได้รวมระบบแจ้งความอาชญากรรมออนไลน์ เรียกว่าไทยโพลิสออนไลน์ เราได้เริ่มรวบรวมข้อมูลตั้งแต่บัดนั้น สถิติก็เริ่มลดลง พอมีการรวมศูนย์ก็มีการปราบปรามอย่างเป็นระบบ 

แต่มันก็เหมือนเชื้อโรคที่พัฒนารูปแบบไปเรื่อยๆ แต่ถึงแม้สถิติการแจ้งความเริ่มลดลง แต่เวลาส่งผลกระทบกับประชาชน มันก็ยังรุนแรง โดยเฉพาะความเสียหายจนหมดตัวจากคอลเซ็นเตอร์

ชมคลิป : รายการคมชัดลึก